วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมโครงการฯ โดยมีนายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

โอกาสนี้ผู้แทนกรมชลประทาน รายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้พิจารณาเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำยางชุม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ป่ากุยบุรี ตลอดจนส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และมีพระราชดำริเพิ่มเติมในการทำระบบกระจายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ พิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำ (Check Dam) และสร้างสระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยในพื้นที่เหนืออ่าง เพื่อช่วยเก็บกักน้ำ และช่วยชะลอน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม ต่อมาหน่วยงานที่ร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริ ดำเนินการเพิ่มระดับเก็บกักน้ำ ส่งผลทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นโดยเฉพาะป่าโดยรอบทำให้ช้างป่ามีแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จาก 15,300 ไร่ เป็น 20,300 ไร่

อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับลุ่มน้ำกุยบุรี ช่วยผลักดันน้ำเค็มในคลองกุยบุรีในช่วงหน้าแล้ง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดรวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย  นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำตั้งแต่ปี 2533 มีสมาชิก 220 ราย เคยได้รับรางวัลสถาบันเกษตรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2543 ต่อมาจึงได้ยกระดับเป็น สหกรณ์การเกษตรชลประทานยางชุม จำกัด มีสมาชิกจำนวน 300 ราย ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการจัดการชลประทาน เมื่อปี 2552

จากนั้น องคมนตรีและคณะ พบปะพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรซึ่งได้สร้างขวัญและกำลังใจในการร่วมกันดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ได้ร่วมปล่อยปลาลงในอ่างเก็บน้ำเพื่อแพร่ขยายพันธุ์เป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป