ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า บริษัทยืน 1 ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน และขนส่งแบบครบวงจร พร้อมความแข็งแกร่งที่มากขึ้น โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 สิ้นสุดถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ทะลุเป้าและเติบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำไรขั้นต้นไตรมาสแรก ปี 2566 เติบโตเพิ่ม 738% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และกำไรรวม ไตรมาส 1 ปี 2566 คว้าจำนวน 74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 227% เทียบกับปีก่อนหน้า และเฉลี่ยเพิ่ม 316% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ทั้งนี้กำไรรวมดังกล่าวไม่รวมกำไร one-time ที่เกิดจากขายเงินลงทุนใน TJN ในไตรมาส 1 ปี 2565 ทั้งนี้ปัจจัยจากการเติบโตที่ก้าวกระโดดนี้ สาเหตุหลักๆ เกิดจาก 1) ปัจจัยจากการเติบโตของผลการดำเนินงานในทุกหน่วยธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ ได้อานิสงค์บวกจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ และราคาพลังงานอื่นที่เพิ่มสูงขึ้น 2) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่ได้ผลบวกจากอัตราค่าไฟฟ้า (Ft) ที่ปรับเพิ่มขึ้น และ จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า และ 3) พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของ TJN หลังจากจับมือกับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น โดยพลิกกลับมามีกำไร ไตรมาสแรกของปี 2566 TJN สามารถทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตอกย้ำความเชื่อมั่นการเติบโตในอนาคต

"บริษัทได้โชว์ผลการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นปี 2566 ได้อย่างสวยงาม โดยรายได้ในไตรมาส 1 สำหรับปี 2566 จำนวน 387 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17% เทียบกับปีก่อนหน้า) สาเหตุหลักมาจาก 1) เปลี่ยนการรับรู้ผลการดำเนินงานเงินลงทุน SAP จาก “บริษัทร่วม” เป็น “บริษัทย่อย” ส่งผลให้มีการควบรวมจัดทำงบการเงินของ SAP เข้ามาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2566 และปัจจัยต่อมา 2) รายได้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้รับอานิสงค์บวกจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับการบริหารจัดการราคาต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีรายได้ซ่อมบำรุงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 3) ยอดปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น มีปัจจัยหนุนจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น และปริมาณการขนส่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากทั้งลูกค้ารายเก่าและรายใหม่"

ส่วนโครงสร้างรายได้จำแนกตามประเภทธุรกิจ ได้แก่ รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ ไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 249 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17% เทียบกับปีก่อนหน้า), รายได้ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ อะไหล่ และรถโดยสารปรับอากาศ ไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 33 ล้านบาท, รายได้จากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 105% เทียบกับปีก่อนหน้า), รายได้จากธุรกิจขนส่งและอื่นๆ ไตรมาส 1 ปี 2566 เท่ากับ 71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 16% เทียบกับปีก่อนหน้า) และรายได้อื่นๆ ไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) และสำหรับโครงสร้างกำไรขั้นต้น จำแนกตามประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ มีกำไรขั้นต้นในไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 34 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 230% เทียบกับปีก่อนหน้า), ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ อะไหล่ และรถโดยสารปรับอากาศ มีกำไรขั้นต้นในไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 4 ล้านบาท, ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน มีกำไรขั้นต้นในไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 29 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 124% เทียบกับปีก่อนหน้า) และธุรกิจขนส่งและอื่นๆ มีกำไรขั้นต้นในไตรมาส 1 ปี 2566 อีกจำนวน 8 หมื่นบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 20 ล้านบาท

ดร.ฤทธี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้บริษัทยังลงทุนเพิ่ม 10.23% ในบริษัทย่อย โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (“SAP”) จากบริษัท ไทย แอดวานซ์ โซลาร์ จำกัด จำนวน 273,612 หุ้น รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 18.52 ล้านบาท การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นใน SAP เพิ่มขึ้นจาก 58.69% เป็น 68.92% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะเงินลงทุนจาก “บริษัทร่วม” เป็น “บริษัทย่อย” โดยในไตรมาส 1 ปี 2566 ผลการดำเนินงานของ SAP เติบโตถึง 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า และอัตราค่าไฟฟ้า (Ft) ที่ปรับตัวสูงขึ้น และในปัจจุบัน SAP ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภาคเอกชน (Private Power Purchase Agreement) กับลูกค้าแล้วทั้งสิ้น 34 โครงการ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 21 MW โดยการเติบโตที่มีนัยยะสำคัญดังกล่าวทำให้บริษัทมีแผนนำ SAP ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปีนี้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้บริษัทได้มีการกระจายพอร์ตการลงทุนสู่ธุรกิจสีเขียว โดย SCN ได้เข้าลงทุนในบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) หรือชื่อเดิม คือ บริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด (SUNTECH) โดยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนทั้งสิ้น 11,842,830 หุ้น เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 112 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 6.4% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ธุรกรรมดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้วในเดือนมกราคม 2566 โดย WTX ประกอบธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับการแปรสภาพเหล็ก และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก อีกทั้งยังมีแผนต่อยอดจากธุรกิจเดิมสู่ธุรกิจรีไซเคิล โดยจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นหลัก

"WTX ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนแก่นักลงทุนทั้งหมด 63.44 ล้านหุ้น มูลค่ารวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท ภายหลังได้รับเงินเพิ่มทุน คาดว่าเพิ่มโอกาสขยายการลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี และ WTX กำลังดำเนินการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน"