ในวันที่ 22 พ.ค.66 เป็นวันครบรอบ 9 ปี ของการทำ "รัฐประหาร" จากเหตุการณ์ "วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองไทย" ที่มีการประท้วงต่อต้าน "รัฐบาล" และขับไล่ "น.ส.สยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่ม "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "กปปส." ซึ่งมี "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำการประท้วง

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสนับสนุน "รัฐบาล" ได้ออกมารวมตัวกันในนาม "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ"  หรือ "นปช." และได้มีการปะทะกันของประชาชนทั้ง 2 กลุ่ม จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ตั้งแต่เดือน ส.ค.2556 ลุกลามมาถึงเดือน พ.ค.2557 

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) แถลงการณ์เรื่องการ "ยุบสภาผู้แทนราษฎร" ความว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่า จากการหารือ รับฟังข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนแล้ว ดิฉันจึงได้ตัดสินใจขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556

ทั้งนี้ การยุบสภาฯ ดังกล่าวเป็นผลจากการชุมนุมกดดันอย่างหนักจากกลุ่ม กปปส. ซึ่งเริ่มจากการประท้วงคัดค้าน "ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" โดยในเวลานั้น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อร่วมชุมนุมกับม็อบ "กปปส." เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ โดยถือฤกษ์วันที่ 9 ธันวาคม เวลา 09.39 น. นัดเคลื่อนทัพใหญ่ทั่วกรุงไปบุกยึดทำเนียบรัฐบาล 

หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ตัดสินใจยุบสภาฯ และเป็น"รัฐบาลรักษาการ" เพื่อหาทางออกทางการเมือง สู่การเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ.2557 แต่การเลือกตั้งดังกล่าวถูกขัดขวางจากกลุ่ม กปปส. โดยผู้ชุมนุมอ้างว่า "ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตัั้ง" เป็นเหตุให้ไม่สามารถลงคะแนนได้ทุกหน่วยเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ จากนั้น "ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้ตัดสินให้การเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ.2557 เป็นโมฆะ และต่อมาเกิดการรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

ย้อนกลับไปก่อนการ "รัฐประหาร"  เมื่อวันที่ 20 พ.ค.57 "ทหาร" ได้มีการเข้า "ยึดอำนาจ" โดยส่งกำลังทหารลงพื้นที่ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ของวันที่ 20 พ.ค.57 โดยได้จัดตั้ง "กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" หรือ "กอ.รส." แล้วประกาศ "พ.ร.บ.กฎอัยการศึก" ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ 03.00 น. จากนั้นประกาศวัตถุประสงค์ ให้ หัวหน้าส่วนราชการเข้ารายงานตัวประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งเชิญคู่ขัดแย้งทั้ง 7 ฝ่าย เข้าประชุมพร้อมกันที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดี – รังสิต

โดยในการประชุม 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล, ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์, ตัวแทน กปปส., ตัวแทน นปช.  และฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งระหว่างการประชุม บรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนของแต่ละฝ่าย ทำให้ไม่สามารถหาข้อยุติในที่ประชุมได้ 

กระทั่ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นำคณะ "ผู้บัญชาการเหล่าทัพ" ประกอบด้วย "บิ๊กเข้" พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร., "บิ๊กจิน" พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ., "บิ๊กอู๋" พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ"บิ๊กตี๋" พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. (ตัวแทน) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ออกมาทำการ "รัฐประหาร" ในนาม "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ "คสช."  แบบไร้การสูญเสีย โดยที่ทุกฝ่ายไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่คนเดียว ท่ามกลางเสียงชื่นชมของประชาชน ส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลรักษาการจบลงทันที 

ล่าสุด "นายชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า จะแถลงข่าวการเซ็น "เอ็มโอยู" กับ 8 พรรคการเมืองที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค.66  เนื่องจากเป็นวันครบรอบการรัฐประหารในปี 2557