ถ้าเปรียบ “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นทหารที่เพิ่งผ่านสมรภูมิรบ ก็ต้องบอกว่า เป็นทหารที่เหลือรอดกลับมาได้อย่างทุลักทุเล ความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ครั้งนี้ กำลังสะท้อนสถานการณ์และความเป็นไปจากนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะถอดบทเรียนครั้งนี้อย่างไร ?
การเลือกตั้งรอบนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.ต่ำกว่า เมื่อครั้งเลือกตั้งในปี 2562 อย่างน่าใจหาย ใครที่เป็น “แฟนพันธุ์แท้” ของพรรคเองก็ย่อมรู้สึกเช่นนี้และตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น และจากนี้ “ขุนพล” ที่ยังอยู่กับพรรคจะเดินกันต่อไปเช่นใด
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยข้อมูลผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ จนถึงล่าสุด ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.เขต 22 ที่นั่ง คะแนนบัญชีรายชื่อ รวม 899,303 เสียง คิดเป็น 2 ที่นั่ง รวมมี ส.ส.ทั้งสิ้น 24 ที่นั่ง เท่ากับว่า ตัวเลขส.ส.หายไปจากเดิมเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีหัวหน้าพรรคคือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กวาดส.ส.ไปได้ทั้งสิ้น 52 ที่นั่ง ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต 3.9 ล้านเสียง
เมื่อตัวเลขคะแนนการเลือกตั้งทั่วประเทศปรากฏขึ้น อย่างไม่เป็นทางการ หลังปิดหีบ ในเวลา 17.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ประเมินได้แล้วว่า สถานการณ์ของพรรคนั้นสาหัสไม่น้อย ต่อมากลางดึกในคืนเดียวกัน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ประกาศลาออก โดยส่งข้อความไปยังกลุ่มไลน์แจ้งสมาชิกพรรค ว่าขอรับผิดชอบ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้
สำหรับสมาชิกพรรค และแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์ บางส่วนย่อมใจหายและขวัญเสียกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะอาจไม่คาดคิดมาก่อน แต่ขณะเดียวกัน ยังมีแกนนำพรรค ที่ได้ประเมินกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ไปจนถึง “ฝั่งตรงข้าม” ที่มองไปไกลว่า พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสสูญพันธุ์ ทั้งไม่อาจรักษาที่นั่งในจุดหลักๆอย่างภาคใต้เอาไว้ได้แล้ว ในกทม.เองที่คาดหวังว่าจะกลับมาทวงเก้าอี้ส.ส.คืน ก็กลับต้องผิดหวังเป็นครั้งที่สอง ซ้ำรอยกับเมื่อปี 2562 โดยไม่ได้ส.ส.กทม. สักที่นั่งเดียว !
ตามข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อจุรินทร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง จะส่งผลให้ กรรมการบริหารพรรคต้องสิ้นสภาพไปด้วยทั้งหมด และในขั้นตอนจากนี้พรรคจะต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ภายใน2เดือนเพื่อเลือก “หัวหน้าพรรคคนใหม่” หัวหน้าพรรคคนที่ 9
ชื่อของ อภิสิทธิ์ ถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่การเลือกตั้งยังมาไม่ถึง ด้วยมีเสียงเรียกร้อง ส่งผ่านสื่อไปถึงอภิสิทธิ์ บนความเชื่อที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะไม่ชนะการเลือกตั้ง รอบนี้ บวกกับปัญหา “ความขัดแย้ง” ภายในพรรคที่ยืดเยื้อมานาน กลายเป็นสาเหตุที่สั่นคลอนพรรค บวกกับกรณีที่ แกนนำพรรคหลายคนได้ลาออกจากพรรคแล้วย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงบางส่วนยังไปตั้งพรรคการเมืองใหม่
ดังนั้นเท่ากับว่า สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงปะทุตั้งแต่ “ศึกใน” ไปจนถึงการที่ต้องไปเปิดหน้าสู้กันเองในสนามเลือกตั้ง เมื่อต่างต้องสวมเสื้อต่างพรรค
บรรยากาศการเมืองหลังการเลือกตั้ง มีความชัดเจนว่าฝ่ายที่ต้องกลายเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ล้วนแล้วแต่เป็น พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ แต่สำหรับประชาธิปัตย์แล้ว อาจมีปัญหาที่ร้าวลึกไปมากกว่านั้น เพราะจากพรรคใหญ่ ถูกลดทอนลงมาเหลือเพียง 24 ที่นั่ง ประกอบกับ ความขัดแย้งระหว่าง “ขั้วอำนาจ” ในพรรค ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้พรรคต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้
ด้วยเหตุนี้ การได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ลำดับที่ 9 จึงเป็นทั้ง “ภาระ” และ “ความท้าทาย” อย่างยิ่ง ไม่ว่า อภิสิทธิ์ จะกลับมากอบกู้วิกฤติให้กับพรรคตามเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคบางส่วน หรือไม่ก็ตาม แต่นี่คือโจทย์หิน เพราะประชาธิปัตย์ อาจต้องถึงคราวรีโนเวท ครั้งใหญ่ เพื่อเรียกขวัญกำลังใจ กลับมาเป็นอันดับแรก !