สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
หากพูดถึง "พระโคสุลาภ หรือ วัวธนู อันลือลั่นหนึ่งในเครื่องรางของขลังทรงพุทธาคม ของหลวงพ่อน้อย คันธโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดศีรษะทอง จ.นครปฐม สุดยอดแห่งเมตตามหานิยม และทำมาค้าขึ้น"
วัดศีรษะทอง ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สร้างจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็น ‘ชาวลาว’ ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในขณะขุดดินเพื่อสร้างวัดก็ได้พบ ‘เศียรพระทอง’ จมอยู่ในดิน ซึ่งถือเป็นนิมิตอันดี จึงตั้งชื่อวัดว่า “วัดหัวทอง” ตั้งแต่นั้นมา โดย หลวงพ่อไตร ชาวลาวที่มาจากเวียงจันทน์ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก จากวัดเล็กๆ ก็ได้พัฒนาขึ้นเรื่อยมา จนถึงสมัย หลวงพ่อน้อย คันธโชโต เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วัดและหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ทำให้ ‘วัดศีรษะทอง’ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างในฐานะเจ้าตำรับ “พระราหูอมจันทร์” เครื่องรางที่ให้คุณในด้านโชคลาภ การพ้นจากเคราะห์ต่างๆ และเสริมดวงชะตา ในยุคของท่าน เป็นช่วงที่มีการสร้างพระราหูจากกะลาตาเดียวมากที่สุด และด้วยรูปแบบที่เป็นมาตรฐานและพุทธาคมเป็นเลิศปรากฏ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีสุดยอดเครื่องรางของขลังของไทย ซึ่งนอกเหนือจาก ‘ราหูอมจันทร์กะลาแกะ’ อันโด่งดังแล้ว ท่านยังสร้าง “วัวธนู” ที่เข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้กัน
หลวงพ่อน้อย นามเดิมว่า น้อย เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2435 ที่บ้านตำบลศีรษะทอง โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายมา-นางมี นาวารัตน์ โยมบิดาเป็นหมอรักษาโรคแผนโบราณและหมอไสยศาสตร์ที่เก่งกล้าวิทยาอาคมเป็นที่เลื่อมใส ชาวบ้านเรียกกันว่า "พ่อหมอ" ตั้งแต่เด็กหลวงพ่อเป็นคนขยันขันแข็งช่วยมารดาทำนาปลูกผักอยู่เสมอ เมื่อว่างก็จะศึกษาอักขระเลขยันต์ คาถาอาคม และไสยศาสตร์ ตลอดจนตำรับยาจากบิดาจนแตกฉาน นอกจากนี้ยังใฝ่ใจในพุทธศาสนาชอบเข้าวัดเข้าวาเป็นเนืองนิตย์
เมื่ออายุครบบรรพชา ในปี พ.ศ.2456 ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยมี พระอธิการยิ้ว เจ้าอาวาสวัดแค เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเกิด วัดงิ้วราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระภิกษุมุน วัดกลางคูเวียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "คันธโชโต" จำพรรษาที่วัดแคได้ระยะหนึ่ง จึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดศีรษะทอง ในช่วงนั้น หลวงพ่อลี เป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้ศึกษาวิชาการต่างๆ ที่ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อไตร มีอาทิ วิชาการสร้างราหูอมจันทร์ และ วิชาการสร้างวัวธนู เป็นต้น เมื่อมีพรรษาสูงขึ้น ขณะที่พระอธิการช้อย เจ้าอาวาสสมัยนั้นได้ลาสิกขาไป บรรดาญาติโยมจึงได้นิมนต์ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านดูแลและพัฒนาวัดและท้องถิ่นจนมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ สมดังเจตนาของญาติโยม ตำแหน่งสุดท้ายได้เป็นเจ้าคณะตำบลปกครองวัดในเขตตำบล หลวงพ่อน้อยมรณภาพเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2488 รวมสิริอายุ 53 ปี
สำหรับการสร้าง "พระโคสุลาภ" หรือ “วัวธนู” ของท่านนั้น จะสร้างจาก ‘ครั่งพุทรา’ ที่เกาะบนกิ่งพุทรา ซึ่งชี้ไปทางทิศตะวันออก การปั้นและปลุกเสกต้องทำให้เสร็จภายในฤกษ์ที่กำหนด ซึ่งฤกษ์ดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาในวันสำคัญที่กำหนดไว้เช่นกัน จึงนับได้ว่า วัวธนูของท่านเป็นเครื่องรางที่มีขั้นตอนการสร้างที่ยากลำบากและซับซ้อนมากที่สุด มีบันทึกไว้ว่า ... ท่านสร้างวัวธนูตามตำราของสมเด็จพระวันรัตน์ วัดป่าแก้ว สมัยกรุงศรีอยุธยา ... ต้องทำกันในโบสถ์ ต้องเตรียมโรงพิธี เซ่นบัดพลีเจ้าที่เจ้าทาง ล้อมรอบด้วยด้ายสายสิญจน์ ครั้นถึงฤกษ์ที่หลวงพ่อกำหนดก็เริ่มพิธีจุดธูปเทียนชัย ซึ่งผู้ที่จะเข้าพิธีปลุกเสก ‘วัวธนู’ จะเป็นผู้ชายที่ต้องถือศีลมาก่อน 7 วัน นุ่งขาวห่มขาว และต้องทำให้เสร็จในเวลาที่กำหนด เฉพาะใน ‘วันมาฆบูชา’ หรือ ‘วันวิสาขบูชา’ เท่านั้น สิ่งที่เตรียมเอาไว้ คือ โครงลวด (ทอง เงิน นาก หรือทองแดง) แผ่นโลหะทำตะกรุด ครั่งพุทราเคี่ยวให้เหนียว เมื่อถึงฤกษ์ยามดี หลวงพ่อก็จะลงจารอักขระขอมในแผ่นโลหะม้วนเป็นตะกรุด จารด้วยคาถาหัวใจพระสีวลี หรือจาร ‘นะ’ เสร็จแล้วจะส่งให้ผู้เข้าร่วมพิธีเอาครั่งที่เคี่ยวไว้พอกทับปั้นเป็น “วัวธนู”
วัวธนูของหลวงพ่อน้อย จะมีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกัน หลักพิจารณาเบื้องต้น คือ ต้องมีน้ำหนักตึงมือ เนื้อแห้ง แน่นตัว เมื่อใช้กล้องส่องจะเห็นผงเปลือกพุทราผสมอยู่ทั่วตัวสีน้ำตาลอมแดง ผิวหยาบ บางตัวอาจมีปิดทองเก่าเดิมๆ ให้เห็นบางจุด สำหรับพุทธคุณนั้น ยอดเยี่ยมทั้งเมตตามหานิยม ทำมาค้าขึ้น ป้องกันภยันตรายและคุณไสยต่างๆ ใช้น้ำที่อาบ “วัวธนู” นำมาราดรดตัวยังช่วยให้หายเจ็บป่วยและโชคดีมีชัยตลอดปีครับผม
วิธีบูชา “วัวธนู” จุดเทียน 1 คู่ ธูป 4 ดอก น้อมรำลึกถึงครูบาอาจารย์ แล้วให้ภาวนาคาถากำกับว่า ... เวทาสากุกุ ทาสาเวทา ยัสสะตะถะสาสา ทิกุกุทิสาสา กุตะกุภูตะภุโค โหตุเต ชัยยะมังคะลานิ