คอลัมน์ ลีลาชีวิต /ทวี สุรฤทธิกุล

ประชาชนคือผู้รับเคราะห์กรรมเสมอ บนความบันเทิงของพวกนักการเมือง

พรหมมิตรร่ำรวยเป็นกอบเป็นกำ จากการทำตัวเป็น “นายหน้า” แทนที่หน้าที่หลักคือ รปภ.หรือผู้ติดตาม ด้วยการร่วมมือกับพวก “หน้าห้อง” พร้อมกับที่ได้สร้างบารมีไต่เต้าไปสู่ตำแหน่ง “ผู้แทนราษฎร”

เงินทองที่พรหมมิตรได้มาจากการ “อำนวยความสะดวก” ให้กับบรรดาผู้ที่มาติดต่อรัฐมนตรีเป็นจำนวนที่มากมายอย่างคาดไม่ถึง จนพรหมมิตรเองก็ไม่กล้าเอาไปฝากธนาคาร ต้องหาที่เก็บไว้ในห้องนอนให้มิดชิด พอมีจำนวนพอสมควรก็เอาไปซื้อแคชเชียร์เช็ค เอาไปวางเงินดาวน์รถยนต์และบ้าน จากนั้นก็ทยอยผ่อนชำระเป็นจำนวนมากน้อยไปในแต่ละงวด จนถือได้ว่าเป็นคนที่มี “สง่าราศี” ขึ้นมาก

ในปี 2531 เขาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส.อย่างไม่ยากเย็น ด้วยการ “บ่มเพาะบารมี” มาหลายปี ทุกครั้งที่เขากลับบ้านพร้อมจัดผ้าป่าไปตามวัดโน้นวัดนี้อย่างสม่ำเสมอ พวกกำนันผู้ใหญ่บ้าน ครูใหญ่ และมัคนายกทั้งหลาย ก็มารุมล้อมเขาในทุกครั้ง เพราะเขาได้แสดงถึงจิตใตที่กว้างขวาง จนทำให้ผู้นำชุมชนเหล่านั้นมีใจให้เขาอยู่อย่างเต็มที่ ทั้งยังรู้ล่วงหน้ามาแล้วว่าเขาจะต้องมาเป็น ส.ส.ที่พื้นที่นี้มานานพอสมควร “ความพร้อม” ทั้งหมดนั้นมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน และนำความสำเร็จมาให้เขาในที่สุด

การเป็น ส.ส.สมัยแรกของเขาเหมือนกับโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่เพียงแต่พรรคที่เขาสังกัดจะได้เป็นรัฐบาลสืบต่ออีกครั้ง ตัวเขานั้นยังได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาฯรัฐมนตรีเพิ่มมาอีกด้วย เพราะเจ้านายเก่าของเขาที่เคยอยู่ในตำแหน่งที่เขาเพิ่งได้รับนี้ ได้รับตำแหน่งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการในกระทรวงสำคัญกระทรวงหนึ่ง ตัวเขาจึงเหมือนมีโชคถึงสามชั้น คือเป็น ส.ส. เป็นเลขาฯท่านรัฐมนตรีช่วย และเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ในทางการเมืองอย่างเต็มตัว

พรหมมิตรสร้างบทบาทของเขาในสภาให้มีความโดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ ถ้าใช้ภาษาในสมัยต่อมาก็คือ “สร้างภาพ” เขาสร้างภาพตัวของเขาว่าเป็น “นักสู้” เพื่อคนยากคนจน ทั้งในการอภิปรายและในการให้ข่าวต่าง ๆ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เสียดายแต่ว่าสภาชุดนั้นอยู่ไม่ครบเทอม เกิดการรัฐประหารใน พ.ศ. 2534 อย่างไรก็ตามเขาก็กลับมาเป็น ส.ส.ได้อีกในปี 2535 และ 2538 เพียงแต่พรรคของเขาไม่ได้เป็นรัฐบาล เขาจึงไม่ได้มีตำแหน่งทางการบริหาร รวมถึง “เบี้ยบ้ายรายทาง” ที่เคยได้เหมือนกับเมื่อครั้งที่เคยมีตำแหน่งในกระทรวง แต่กระนั้นเขาก็ยังคงมีชื่อเสียงอยู่ในสภา ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างภาพให้เป็นนักสู้ที่เข้มแข็งดุเดือดนั้นอยู่เป็นปกติ

ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2544 เขาก็ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเนื่องจากมีพรรคการเมืองที่ใหม่สดกว่ามาแย่งพื้นที่ แต่พอในปี 2548 ก็เหมือน “บุญหล่นทับ” เพราะ ส.ส.ที่มาแย่งพื้นที่เขาไม่สบาย ทำให้เขาได้เป็นผู้สมัครแทนที่ พร้อมกับเปลี่ยนพรรคใหม่มาอยู่กับพรรคใหญ่ที่ “แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งปีนั้นด้วย ซึ่งก็มีเขาได้กลับเป็น ส.ส.อยู่ด้วยอีกครั้ง แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน รัฐบาลนั้นต้องยุบสภาหนีความวุ่นวายทางการเมือง มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในปีต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญก็ประกาศว่าเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะมีการจ้างพรรคเล็กมาร่วมลงแข่งขันให้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง จากนั้นก็ตามมาด้วยความวุ่นงายทางการเมือง “เสื้อเหลือง - เสื้อแดง” ซึ่งพรหมมิตรก็ยังทำตัวเป็น “นักสู้” ของฝ่ายเสื้อแดงอยู่อย่างเข้มแข็ง

ผมไม่ได้ติดต่อกับพรหมมิตรอีกเลยตั้งแต่ที่มีการเลือกตั้งในปี 2544 เพราะผมได้กลับไปเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยดั้งเดิม หลังจากที่ถูกยืมตัวให้มาช่วยราชการที่กระทรวงต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2531 อันเป็นปีแรกที่ผมได้รู้จักกับพรหมมิตร แต่เมื่อมีกรณีเสื้อเหลืองเสื้อแดง พรหมมิตรได้สังกัดอยู่ในฝ่ายเสื้อแดง ส่วนผมก็ได้ขึ้นบนเวทีให้กับฝ่ายเสื้อเหลือง จึงเหมือนเป็นฝ่ายตรงข้ามกันโดยตรง จนกระทั่งในปี 2556 ที่มีขบวนการ กปปส.ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมก็ทราบว่าเขาอยู่ในฝ่ายแม่ทัพของพวกเสื้อแดงนั้นอยู่ แต่ผมก็มาเป็นวิทยากรให้กับฝ่าย กปปส. และก็มองเห็นเขานั้นเป็นศัตรูด้วยคนหนึ่ง

จนเมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ก็ทราบว่าจากข่าวในสื่อต่าง ๆ ว่า พรหมมิตรมาทำงานให้กับรัฐบาลทหาร นัยว่าเขาจะมาช่วย “ประสานข้อมูล” ระหว่างฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกยึดอำนาจ กับผู้นำทหารที่อาจจะเข้าใจในขบวนการคนเสื้อแดงนั้นผิด ๆ แต่ในที่สุดพรหมมิตรก็ดูเหมือนจะเป็นศัตรูกับคนเสื้อแดง เพราะไม่เพียงแต่จะไม่สามารถเชื่อมรอยร้าวระหว่างคนเสื้อแดงกับทหารได้แล้ว เขายังเป็นที่เกลียดชังของคนเสื้อแดงที่ไม่ไว้วางใจในตัวเขามาสักระยะแล้วนั้นด้วย

ผมมาเจอพรหมมิตรอีกครั้งในช่วงที่มีเลือกตั้งปี 2562 เพราะผมได้ไปช่วยพรรคการเมืองพรรคหนึ่งจัดทำนโยบายและวางยุทธศาสตร์พรรค เขาคงจะพอทราบเรื่องนี้ก็พยายามติดต่อมาขอพูดคุยกับผมว่า “อยากเจอเพื่อนเก่า” ซึ่งผมก็ไม่ได้บ่ายเบี่ยง เพราะก็อยาก “แลกเปลี่ยนข้อมูล” กับเขาเหมือนกันว่า ฝ่ายของเขาที่เป็นพรรคคู่แข่งด้วยนั้น “จะมีอะไรแค่ไหน” ที่สุดก็ทราบว่าเขามีปัญหาเรื่อง “เงิน ๆ ทอง ๆ” ในกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดง ทำให้เขาไม่พอใจและต้องถอนตัวออกมาอยู่กับฝ่ายทหาร

ล่าสุดในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พรหมมิตรก็เป็นผู้สมัครในประเภทบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในฝ่ายรัฐบาลเดิม แต่โชคร้าย(หรืออาจจะเป็นโชคดีของบ้านเมือง)เขาอยู่ในลำดับที่มีคะแนนนับไปไม่ถึง นั่นคือเขาไม่ได้กลับมาเป็น ส.ส.อีกแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อในความเป็น “นักการเมืองพันธุ์แท้” ของพรหมมิตร โดยเป็นนักการเมือง “พันธุ์ไทยแท้ ๆ” คือไม่ใช่นักการเมืองน้ำดีตามนิยามที่ควรเป็นในทางสากล คนพันธุ์นี้จะไม่หมดไปจากการเมืองไทยในเร็ววัน เช่นเดียวกันกับที่นักการเมืองที่ชื่อพรหมมิตรก็ยังจะกลับมาสู่วงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยนี้ได้อีกเสมอ

“นักการเมืองไทยพันธุ์แท้” คือนักการเมืองที่ “บ้าอำนาจ” ชอบทำตัวเป็นเจ้าคนนายคน อวดเบ่ง อวดบารมี และแข่งอำนาจวาสนา ซึ่งอำนาจวาสนาเหล่านี้ก็ได้มาด้วยเล่ห์เพทุบายต่าง ๆ ตั้งแต่กลโกงในการเลือกตั้ง ไปจนถึงการทุจริตคอร์รัปชันในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง

ผมยังจำได้ถึงคำพูดของพรหมมิตรเมื่อครั้งที่เจอกันหลังสุดใน พ.ศ. 2562 ในค่ำคืนที่ผมชวนเขาดื่มจนถึงดึกถึงดื่น “จนได้ที่” ดั่งสุภาษิตละตินที่กล่าวว่า “ในเหล้ามีความจริง – In vino veritas”

เขาพูดว่าเขาสงสารคนไทยมาก ๆ  เขาอยู่มาหลายพรรคหลายนาย คนใหญ่คนโตเหล่านั้นไม่ได้รักประชาชนจริง ๆ เขานั่งอยู่ข้าง ๆ คนเหล่านั้น ซึ่งตอนกลางวันก็ทะเลาะกันออกสื่อ แต่พอตอนค่ำก็มากินข้าวด้วยกัน พร้อมทั้งพูดคุยถึงสงครามที่ประชาชนของทั้งสองฝ่ายนั้นมาสู้รบกันอย่างสนุกสนาน

“ประชาชนคือเครื่องมือของนักการเมือง เหมือนจิ้งหรีดที่ถูกปั้นหัวให้สู้กัน แล้วเจ้าของจิ้งหรีดก็ดูด้วยความสนุกสนาน”