ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“หากจะมีคำถามที่คว้านลึกเข้าไปค้นหาคำตอบแห่งชีวิตอันสมบูรณ์ว่า...สรรพสิ่งทั้งหลาย...ถูกสร้างขึ้นมาจากสิ่งใด?..คำตอบที่ได้ก็จะเป็นไปในทำนองนี้ว่า..ไม่มีที่ใดเลย ทุกๆสิ่งคือสัจจะภาวะเดียวกันทั้งหมด เป็นพลังเดียวกัน...ไม่มีที่มา...ไม่มีที่เริ่มต้น ไม่มีการแบ่งแยกที่แท้จริง ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ที่นี่กับที่นั่น เราอยู่ภายใต้สัจจะภาวะตลอดเวลา...จิตของเรานั้น..มิได้ถูกแบ่งแยกจากการรู้แจ้ง”

ปฐมบทอันมีค่าทางความคิดเบื้องต้น..มาจากหนังสือแห่งจิตปัญญาอันลุ่มลึก ซึ่งเป็นผลงานเขียนของ “ตาร์ธาง ตุลกู"ผู้เขียน “วิถีแห่งดุลยภาพ” และ “การงานคือ คุรุ”...ที่งดงามต่อจิตใจและเป็นที่หยั่งรู้ต่อคสำนึกคิดอันสูงส่งยิ่ง...

มันคือแหล่งแห่งพลัง...ที่จะช่วยปลุกพลังที่เร้นซ่อนอยู่ภายในตัวตนของเรา ให้บังเกิดขึ้น ด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนาและการเพ่งพินิจพิจารณาตนเอง ผ่านการที่ได้สนทนากับตนเอง ซึ่งการกระทำอย่างลึกซึ้งในวิถีเช่นนี้ จักทำให้ เกิดการนำพาตัวเราไปสู่ความเข้าใจและการฝึกเยียวยารักษาจิต ตลอดจนการฝึกหายใจอย่างปกติ การสวดมนต์ และการปฏิบัติอื่นๆ ซึ่งนำมาถึงการผ่อนคลายในระดับลึก จนก่อเกิดเป็นความกระจ่างแจ้งและสมาธิ กระทั่งปัญญาญาณ ที่สามารถสาดส่องชีวิตของเราให้สว่างไสว...ด้วยความหมายและอิสระภาพ..ที่ไม่มีประมาณ..

“จิตของเรานั้น มีพลังที่ตอบสนองต่อทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต หากเราเข้าใจธรรมชาติและการยืดหยุ่นของจิต เราจะสามารถกำหนดทิศทางของพลังนี้ได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ได้มากขึ้น การที่คนเราตระหนักรู้ในพลังนี้ จะเปิดประตูสู่อิสรภาพให้แก่เรา อันจะนำมาซึ่งความสุขและเป็นที่พักพิงให้แก่เราได้อย่างแท้จริง..ท่ามกลางโลกที่แสนจะสับสนวุ่นวาย"

ว่ากันว่า...เมื่อเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมโนทัศน์และความคิดให้น้อยลง เราจะค้นพบสภาวะที่ไร้รูปแบบและไร้ลักษณะเฉพาะ เป็นสภาวะที่ปราศจากจุดยืนหรือความคิดที่คับแคบตายตัวซึ่งเราจะต้องคอยปกป้อง จะมีก็แต่สภาวะที่สงบเบาสบาย เป็นความเงียบอันอุดมยิ่ง ซึ่งเป็นขุมแห่งพลังชีวิตและการสร้างสรรค์ เราจะเลิกใส่ใจกับความทรงจำในอดีต หรือมุ่งคิดแต่เรื่องอนาคต ในปัจจุบันขณะ ที่สัมปชัญญะที่ไม่ถูกปิดกั้น และ เป็นธรรมชาติยิ่ง..

“เราสามารถบ่มเพาะสัมปชัญญะนี้ และ สามารถเข้าถึงความสงบอันไพศาล ที่แผ่อยู่ภายใต้ความคิดของเรา มีหลายวิธีที่จะทำได้ หนึ่งในวิธีเหล่านั้น คือการทำจิตให้ว่างจากความคิดและมโนทัศน์ทั้งมวล เพื่อจะเหลือแค่ เพียงความสงบงามและกระจ่างใส แต่หากความคิดมากมาย สามารถพรั่งพรูเข้ามาได้เพียงในเวลาห้านาที..กว่าที่เราจะใช้เวลาให้มันสงบได้ทั้งหมด...คงใช้เวลาหลายปี.."

หากเราคอยสังเกตว่า..ในแต่ละวัน เราดำเนินชีวิตอย่างไร? เราก็จะพบว่า..เราได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเพ้อฝันว่าตนคือใคร? และ อยากให้คนอื่นมองเราอย่างไร? คนเรามักจะห่วงภาพลักษณ์ของตนมากทีเดียว...และถือว่ามันสำคัญยิ่ง...ครั้นเมื่อเรา เอาแค่เฝ้ามองภาพเหล่านี้..เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงบุคลิกลักษณะของเรา...ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่เรานั่ง รูปลักษณ์ภายนอก หรือ แม้แต่ วิธีพูดจาของเรา..

“มีนิทานเด็กของทิเบต ที่เล่าถึง หมีที่หิ้วโซ ซึ่งพยายามขุดหานากบก ที่จำศีลอยู่ในช่วงฤดูหนาว หมีตัวนั้นพยายามขุดจนเจอนากบกตัวหนึ่ง ทุบมันจนหมดสติ และคิดว่ามันตายแล้ว จึงวางมันทิ้งไว้..โดยหวังว่าจะกลับมากินภายหลัง แต่นากบกตัวนั้นกลับฟื้นขึ้นมาและวิ่งหนีไป ฝ่ายเจ้าหมีที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็เริ่มขุดหานากบกตัวใหม่ต่อไป..ทุบมันจนสลบแล้วก็วางไว้อีกเช่นกัน เจ้าหมียังคงต้องการมากขึ้นไปอีก มันจึงเริ่มมองหานากบกตัวที่สาม ในขณะเดียวกันนั่นเอง นากบกตัวที่สองก็ฟื้นและวิ่งหนีไปอีก และเหตุการณ์ก็เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า..

จนที่สุด..เจ้าหมีก็ไม่เหลืออะไรเลย นอกจากนากบกตัวสุดท้ายตัวเดียว..ที่มันถืออยู่ในมือ..”

ชีวิตของเราเอง ก็ไม่ต่างไปจากหมีตัวนั้น ที่เฝ้าบำรุงเลี้ยงภาพลักษณ์ของตนเรื่อยไปอย่างไม่รู้จักพอ เมื่อพลังของเรามุ่งไปที่การตอบสนองความคาดหวัง เราจะขาดพลังเกื้อหนุนและถูกตัดขาดไปจากธรรมชาติภายในของเราเอง .ซึ่งในที่สุดชีวิตในวิถีเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรจะให้เราอีกต่อไป  นอกจากความทรงจำเก่าๆในอดีต... และการฝันเฟื่องถึงอนาคตข้างหน้า.."

คำสอนของหนังสือเล่มนี้ "ตาร์ธาง ตุลกูร"...ดั่งให้ข้อคิดคำนึงเป็นบทสรุปต่อผู้อ่านทุกผู้ทุกนาม..ให้ตระหนักและใคร่ครวญอย่างถ่องแท้ถึงว่า..ความมีและความเป็นสัมปชัญญะนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่บังเกิดผลอันสมบูรณ์ต่อชีวิตอย่างถึงที่สุด..

เนื่องจาก..สัมปชัญญะมีคุณลักษณะที่สุกสว่างในตัวเองและมีความเกี่ยวข้องกับจักษุสัมผัส เหตุนี้  แบบฝึกหัด ที่จะช่วยพัฒนาสัมปชัญญะ จึงคือ..เรื่องของการมองเห็นและแสงสว่าง โดยให้เราทุกคนเพียรหาแสงสว่างนี้ในสถานที่ที่มีบรรยากาศโปร่งสบายเพื่อทำแบบฝึกหัดนี้...ด้วยการนั่งลงให้สบาย และลืมตาโดยไม่เพ่งจ้องไปยังที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ..จากนั้นให้ตั้งสมาธิ ประหนึ่งว่าเรากำลังฟังเสียง ที่อยู่ไกลออกไปด้วยตาของเรา...เมื่อเราฝึกไป เราจะสามารถจะเรียนรู้ในรู้สึกว่า เราได้ยินด้วยตา..จึ่งขอให้...เราทุกคน..

"จงภาวนาลงไปในเสียงที่เงียบ..และว่างเปล่านั้น"

"นัยนา นาควัชระ" ได้ระบุถึงแสงฉายที่ล้ำลึกและมีค่าของหนังสือเล่มนี้ในฐานะผู้แปลและถอดความ "ใจความ" ของหนังสือเล่มนี้ออกมาว่า...มันคือหนังสือที่ให้กำลังใจและให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติธรรม อีกทั้งเชิญชวนต่อผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติธรรมให้ก้าวสู่ "หนทางแห่งการค้นพบและรู้จักตนเอง"

พร้อมกับแสดงให้เห็นว่า..จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมนั้น..มิได้อยู่ไกลเกินเอื้อม หรือมีอยู่แค่ในอุดมคติเท่านั้น...หากแต่มันเป็นสิ่งที่อยู่อยู่แล้วในตัวเราทุกคน

"เพียงแต่เราจะตัดสินใจเจฝข้าไปค้นหามันหรือไม่เท่านั้นเอง"

...ในช่วงแห่งวันเกิด ในวารวัยแห่งความตื่นรู้แห่งชีวิตของผม  กาลเวลาแห่งจิตวิญญาณทำให้ผมระลึกถึงหนังสือเล่มนี้...มันคือสัจจะของรากเหง้าแห่งการผ่อนคลายในระดับลึกของผมเสมอมา และมันยังคือ...ความอ่อนโยนแห่งหัวใจของสติปัญญาที่คอยโอบอุ้มตัวตนของเราอยู่เสมอ ..ไม่ว่าความเป็นชีวิตจะตกอยู่ในห้วงภวังค์ของความทุกข์ท้นหรือความสุขล้นประการใด..ก็ตาม

.. “เมื่อใดที่เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า..ประสบการณ์ในยามตื่นนั้น เป็นเช่นเดียวกับความฝัน...เราต่างจะไม่ยึดถือชีวิตว่า..เป็นเรื่องจริงอีกต่อไป...”