ศมส.จัดบรรยายออนไลน์ “นักมานุษยวิทยากับงานภาคสนามใต้เงาสังคมนิยมจีน
งานภาคสนามต่างแดนต่างวัฒนธรรมคือพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (rite of passage) สำคัญที่นักเรียนมานุษยวิทยาต้องเข้าร่วม ถือปฏิบัติ และทำงานอุทิศชีวิตเพื่อ "ผ่าน" ขั้นตอนสำคัญนี้ และมีประสบการณ์ร่วมจนหล่อหลอมตัวตนของนักมานุษยวิทยาขึ้นมา จากการทำงานภาคสนามแบบมานุษยวิทยาจารีตนี้อย่างจริงจังเข้มข้น รวม 2 ทศวรรษใน "เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา" ยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) จัดบรรยายออนไลน์ซีรีย์ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “นักมานุษยวิทยากับงานภาคสนามใต้เงาสังคมนิยมจีน Fieldwork Xishuangbanna” ร่วมแลกเปลี่ยนโดย รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 – 15.00 น. ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Fanpage / Youtube: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC, Sac TV: www.sac.or.th
การบรรยายจะเล่าประสบการณ์แรกเริ่มทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากกลายมาเป็นนักมานุษยวิทยา จนกระทั่งปัจจุบัน ชีวิตภาคสนามในเขตชนบทของจีน การทำงานวิจัยในบริบทสังคมนิยม ที่ด้านหนึ่งก็เปิดกว้างด้านเศรษฐกิจ การค้า การพัฒนา กับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทว่าในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนยังคงเฝ้าระวังปัญหาความขัดแย้ง "การไม่ยอมเปลี่ยนเป็นจีนแบบฮั่น" ของชนชาติส่วนน้อย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยาซึ่งถูกมองว่าคือ "คนอื่น" กับ ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น นักวิชาการ จนไปถึง "คนของรัฐ" คือกระบวนสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวพันไปกับการทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา การเข้าถึง/เข้าไม่ถึง เข้าถึง "ข้อมูล" ไม่ได้ นักมานุษยวิทยาจะทำงานอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเขียนงานวิชาการของตน ทั้งนี้สามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสด รับชมย้อนหลัง หรือติดตามงานบรรยาย/เสวนาอื่นๆ ได้ที่ช่องทางดังกล่าว