ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกค่อยๆทยอยประกาศอิสรภาพจาก นักล่าอาณานิคมตะวันตก แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศเหล่านั้นจะหลุดพ้นจากอำนาจของลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งมาในรูปแบบใหม่ และถูกนิยามว่ามันคือ “ลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ Neocolonialism”
มันเป็นรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดินิยม และคำคำนี้ถูกนิยามโดย Kwame Nkrumah ผู้นำสาธารณรัฐที่เป็นอิสระในปีค.ศ.1957 คือ “กานา”
Kwame Nkrumah ได้เขียนหนังสือชื่อ “Neocolonialism as the last Stage of Imperialism” ในปีค.ศ.1965
ปรากฏการณ์ของการล่าอาณานิคมแบบใหม่นี้ถูกกล่าวถึงจากผู้นำที่ต่อสู้และต่อต้านการเข้าครอบงำและแสวงประโยชน์จากประเทศตะวันตก ทั้งที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมในประเทศนั้นมาก่อน หรือ ประเทศตะวันตกอื่นๆที่บางประเทศก็ประกาศตนว่า ต้องการเข้ามาปลดแอกสร้างเสรีภาพให้กับอดีตประเทศอาณานิคม แม้กระทั่งมักอ้างตนว่าประเทศของตนไม่เคยมีอาณานิคม หรือ ต้องการล่าอาณานิคม ทว่ามันเป็นการบิดเบือนซ่อนรูปโดยสิ้นเชิง
ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากประเทศเจ้าอาณานิคมเกิดขึ้นจาก ชาวพื้นเมืองที่เป็นนักปฏิวัติทั้งหลาย ต่างก็ต้องสูญเสียชีวิตบาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมาก กว่าจะได้หลุดพ้นและประกาศอิสรภาพ
แต่การต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ นักปฏิวัติจำเป็นต้องใช้สมอง องค์ความรู้และชุดความคิดแบบใหม่ เพื่อปกป้องการเข้าครอบงำแสวงประโยชน์ ของลัทธิการล่าอาณานิคมแบบใหม่ และไม่ใช่แค่กับประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ต้องระมัดระวังน้ำตาลเคลือบยาพิษจากประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยโครงการเงินลงทุนหรือเงินช่วยเหลืออื่นๆ
อนึ่งโปรดเข้าใจด้วยว่าบทความนี้มิได้มุ่งหวังที่จะสร้างความร้าวฉาน การแบ่งแยกหรือปลุกระดมความรู้สึกในการต่อต้านประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศตะวันตกที่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม
ตรงข้ามบทความนี้มุ่งหมายที่จะสร้างความเข้าใจ รู้เท่าทัน แต่สร้างความสัมพันธ์กับประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยหลักการของความเท่าเทียมความยุติธรรม และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมไม่ใช่แค่เสรีทางการค้าและการลงทุน แต่ต้องเป็นการค้าการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรม “Free and Fair”
และนี่คือคำเรียกร้องของอดีตประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมตลอดรวมไปถึงประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยอื่นๆ ที่มีต่อประเทศพัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองด้าน คือ ระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว ในทางเศรษฐกิจกลับนำมาสู่ช่องว่างทางรายได้ที่กว้างขวางขึ้น
การต่อต้านลัทธิการล่าอาณานิคมยุคใหม่ จึงมุ่งเน้นการเอารัดเอาเปรียบด้านการเงินที่เหนือกว่า ตลอดจนการมีอำนาจเหนือตลาดของประเทศตะวันตก หรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ
การมีอำนาจเหนือกว่าทางเศรษฐกิจนี้ถูกตอกย้ำเพิ่มพลังด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เหนือกว่าอย่างมาก ตลอดจนอาศัยการพึ่งพาด้านกำลังทหารเพื่อมุ่งหวังจะทำให้เชื่อว่าประเทศที่อ่อนแอจะได้อาศัยเป็นเกราะปกป้องประเทศพัฒนาน้อยเหล่านั้น จึงมีการจัดทำสนธิสัญญาต่างๆเพื่อสร้างความผูกพัน แต่แฝงไว้ด้วยการขยายอิทธิพลทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการทหาร
ตัวอย่างที่ทำให้ผู้นำในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศไขว้เขวกับน้ำผึ้งเคลือบยาพิษนี้ เช่น ผู้นำท่านหนึ่งในเอเชียกล่าวว่า “ด้านความมั่นคงต้องผูกพันกับสหรัฐฯ” และด้านเศรษฐกิจต้องผูกพันกับจีน”
แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อสงครามหรือการต่อสู้ในปัจจุบัน มันเป็นสงครามพันทาง ที่ผสมผสานตั้งแต่การใช้กำลังทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่สงครามไซบบเบอร์ สงครามทางเคมีชีวภาพ หรือพูดอย่างง่าย สงครามเชื้อโรค ฯลฯ ความมั่นคงจึงต้องถูกนิยามใหม่และครอบคลุมทุกมิติ
ดังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะแยกความมั่นคงกับเศรษฐกิจในเมื่อ สหรัฐฯกับจีน กำลังทำสงครามพันทางกันอยู่
ปัญหาสำคัญคือ ต้องให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ชนในชาติของประเทศพัฒนาน้อย มิให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จนลืมผลประโยชน์ส่วนรวม ดังที่มีคนเคยกล่าวว่า “เปรียบเสมือนมีคนมาฆ่าวัวเราไป 1 ตัว แล้วนำแกงเนื้อมาให้เรา 1 ถ้วย เราก็หลงใหลได้ปลื้มกับแกงถ้วยนั้น จนลืมไปว่าเขามาฆ่าวัวเราไปทั้งตัว”
ในแอฟริกามันเป็นตัวอย่างที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้เห็นชัดเจน นั่นคือ ประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมได้ดำเนินการเอารัดเอาเปรียบ ตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่แอฟริกามีอย่างมหาศาล
แต่ประเทศเหล่านั้นก็ยังคงยากจน อดอยาก มิหนำซ้ำยังเกิดการสู้รบด้วยการสนับสนุนอาวุธจากตะวันตก และการคอยขัดขวางเพื่อมิให้ประเทศเหล่านั้น หรือภายในประเทศเหล่านั้นได้มีความสงบสุข และพัฒนาอย่างยั่งยืน ตัวอย่างรัฐล้มเหลว อย่างโซมาเลีย หรือลิเบีย ที่ถูกทำลายกลายเป็นรัฐล้มเหลว โดยเฉพาะลิเบีย ภายใต้การนำของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ที่พยายามรวมประชาชาติแอฟริกา ภายใต้ธงสหภาพแอฟริกา และด้วยบทบาทการนำของท่าน ที่มีกำลังเงินจากน้ำมัน ท่านพยายามสร้างเอกภาพให้เกิดในแอฟริกา และยืนบนขาของตนเองอย่างเช่น การใช้เงินสกุลหลักที่มีทองคำหนุนหลัง 100%
สุดท้ายท่านก็ถูกทำลายประเทศย่อยยับ และยังพยายามโฆษณาชวนเชื่อว่าท่านคือผู้นำที่ชั่วร้าย ทั้งๆที่ท่านสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีสำหรับประชาชน ด้วยรายได้มหาศาลจากน้ำมัน ขณะที่ท่านเองยังอาศัยอยู่ในเต็นท์ และมิได้ร่ำรวยอย่างใด
ปัจจุบันแอฟริกาประกอบไปด้วยประเทศ 56 ประเทศ ซึ่งถ้าสามารถรวมตัวกันได้เป็นเอกภาพ จะเป็นอีกขั้วอำนาจที่แข็งแกร่งเพราะมีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ และพลังที่แข็งแกร่งอดทนของประชาชน น่าเสียดายที่ถูกยุแยกจากประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าทำให้มีการสู้รบทั้งภายในและระหว่างประเทศด้วยการถูกล่อลวงจากผลประโยชน์ส่วนบุคคล หรือ แม้แต่ส่วนของผลประโยชน์ของชาติที่ในความเป็นจริงจะดีกว่าถ้ามีความร่วมมือแบ่งปันกัน
ในบางครั้งก็ถูกแบ่งแยกโดยไม่รู้ตัวจากทฤษฎีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labour) แล้วก็ถูกตะวันตกตักตวงผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไป
มรดกตกทอดของเจ้าอาณานิคมมีส่วนสำคัญในการขัดขวางการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศในแอฟริกา เช่น การสร้างพรมแดนที่จะเกิดความขัดแย้งกันในอนาคต รวมทั้งการจัดแบ่งพื้นที่ของชนเผ่าที่มีความขัดแย้งกันให้มีปัญหากัน จนไม่อาจสร้างครอบครัวชาวแอฟริกาขึ้นมาได้
ชาวแอฟริกาคงต้องเรียนรู้การรู้จักและประโยชน์ของการแบ่งปัน อย่างที่กัดดาฟีได้เคยปูทางไว้ และนำมาสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีของทวีปแอฟริกาในปี ค.ศ.2021
ทว่าประเทศตะวันตกคงต้องหาทางยับยั้งกีดกั้นทุกวิถีทางเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
ท้ายที่สุดการทำสนธิสัญญาทางทหารเป็นแนวทางที่ตะวันตกพยายามส่งเสริมการขาย ในนามความมั่นคง แต่ประเทศที่ร่วมสนธิสัญญาโดยรู้ตัวหรือไม่ จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตักตวงผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของเจ้าอาณานิคมยุคใหม่
ประเทศไทยจึงควรศึกษาบทเรียนเหล่านี้โดยไม่สับสนกับความสัมพันธ์ทางทหารและเศรษฐกิจ เพราะมันแยกกันไม่ออก
ที่สำคัญคือมุ่งสร้างกลุ่มในการสร้างอำนาจการต่อรอง และมุ่งใช้องค์การระหว่างประเทศในการเพิ่มบทบาทของตนเอง ในการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มและของชาติ อย่าลืม Asean และ BIMSTEC ว่าถ้ารวมกันได้จะเกิดประโยชน์มหาศาล
นอกจากพวกที่ทำตนเป็นทาสที่ปล่อยไม่ไป