นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ผู้โดยสารตอบรับการปฏิรูปรถโดยสาร (รถเมล์) ประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 269 เส้นทาง ตามนโยบาย 1 สาย 1 ผู้ประกอบการ โดยผลประเมินพบว่า ชื่นชอบหลายเส้นทางที่เอกชนนำรถเมล์ใหม่มาให้บริการ รถเมล์สะอาด ที่นั่งเพียงพอ และจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนรถ/เที่ยววิ่ง และเพิ่มความถี่ให้สอดคล้องกับความต้องการเพื่อลดปัญหาการคอยรถเมล์นาน ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องพัฒนาตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อคุณภาพบริการ

ส่วนกรณีที่กรมการขนส่งทางบกเชิญชวนประชาชนร่วมโหวตเลขสายรถเมล์ 2 ทางเลือก ได้แก่ ใช้หมายเลขเส้นทางใหม่ทั้งหมดตามแผนปฏิรูปฯ และใช้เส้นทางเดิมหรือใกล้เคียงเส้นทางเดิมกลับไปใช้หมายเลขเส้นทางเดิม สำหรับเส้นทางเดิมที่แบ่งเป็น 2 เส้นทาง หรือ 3 เส้นทาง ใช้ตัวอักษรภาษาไทยหรือตัวอักษรภาษาอังกฤษกำกับ ในส่วนของเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยวิ่งมาก่อน กำหนดให้เป็นเลขใหม่ 3 หลัก ผลโหวตพบว่าเลขสายใหม่ตามแผนปฏิรูปค่อนข้างยาวและจดจำได้ยาก มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เส้นทางเดิม หรือปรับปรุงเล็กน้อยใกล้เคียงเส้นทางเดิมขอให้ใช้เลขสายเดิมแทน อาจไม่เป็นระบบมากนัก แต่ประชาชนมีความคุ้นชิน เพราะใช้เป็นประจำและใช้มานาน 30-40 ปี

ทั้งนี้ในเดือนมิ.ย.นี้จะเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เพื่อขอปรับเลขสายรถเมล์ที่เปลี่ยนใหม่กลับไปใช้เลขเดิม ส่วนเส้นทางใหม่จะใช้เลขสายใหม่ ขณะนี้ได้จัดหมายเลขรถเมล์ไปแล้ว 200 หมายเลข จากเดิมที่เปลี่ยนเลขหมายใหม่โดยใช้วิธีแบ่งโซน แล้วกำหนดเลข เพราะกรมฯ มองว่าสามารถรู้ข้อมูลรถเมล์ที่ให้บริการจากต้นทาง-ปลายทาง ได้ว่าอยู่ในโซนพื้นที่ไหน กำลังจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งตรวจสอบข้อกฎหมาย หากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ จะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป สำหรับเส้นทางปฏิรูปจำนวน 269 เส้นทาง แบ่งเป็น ขสมก. 108 เส้นทาง ของเอกชน 53 เส้นทาง บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB 77 เส้นทาง ส่วนอีก 31 เส้นทาง เป็นรถหมวด 4 ให้บริการภายในซอย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย อยู่ระหว่างดำเนินการ

ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบกเตรียมข้อมูลด้านการขนส่งทางบกไว้นำเสนอรัฐบาลใหม่และ รมว.คมนาคมคนใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด รอให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ก่อน ส่วนนโยบายของพรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมาอันดับ 1 มีนโยบายสนับสนุนเรื่องรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ทุกจังหวัดนั้น ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้ผลักดันการนำรถเมล์ไฟฟ้ามาให้บริการอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางอากาศ และ ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)