"ฤดูฝน" ปี 2566 เป็นช่วงที่มีการแพร่กระจายของเชื้อ "ไข้หวัดใหญ่" ซึ่งเป็นโรคที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้

สามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างง่ายดาย และอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ และอาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่เดิมร้ายแรงขึ้น เช่น หัวใจล้มเหลว เบาหวาน โดยจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้แล้ว ทำให้ช่วยลดความเสี่ยง ความรุนแรงเมื่อเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้

ล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ชี้แจงแนวทางจัดสรรวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงประจำปี 2566 ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

"สปสช." ได้จัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไว้แล้ว จำนวน 5.26 ล้านโดส ซึ่งในจำนวนนี้รวมส่วนที่เพิ่มใหม่ 8.6 แสนโดสฉีดให้กลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมเพื่อการดูแลที่ครอบคลุมมากขึ้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งมีระยะเวลาฉีด 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ส.ค.2566  
    
สำหรับ หลักเกณฑ์ในการจัดสรรวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้นเป็นไปตามแนวทางดำเนินงานให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตามฤดูกาล ปี 2566 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คือ จะจัดสรรตามสัดส่วนประชากรกลุ่มเสี่ยงเท่ากันทุกเขตและทุกจังหวัด ซึ่ง สปสช.ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อจัดสรรโควตาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามสัดส่วนประชากรกลุ่มเสี่ยงในแต่ละจังหวัด และกำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในแต่ละหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเสี่ยงเพื่อให้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายต่อไป  
    
ทั้งนี้ในการกระจายวัคซีนให้หน่วยบริการนั้น ดำเนินการผ่านระบบ VMI ขององค์การเภสัชกรรม โดยได้จัดสรรให้หน่วยบริการทั่วประเทศเป็น 3 ระยะดังนี้ เพื่อส่งถึงหน่วยบริการวันที่ 25 เม.ย.66 จำนวน 500,000 โดส, วันที่ 25 พ.ค.66 จำนวน 1,500,000 โดล และส่วนที่เหลือภายจะส่งถึงหน่วยบริการวันที่ 25 มิ.ย.66 ตามลำดับ นอกจากนั้นได้สำรองคงคลังไว้ที่ส่วนกลางสำหรับหน่วยบริการที่ต้องการเพิ่ม จำนวน 50,000 และในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่ให้บริการตลอดทั้งปี ได้ทยอยจัดสรรให้หน่วยบริการเป็นระยะเพิ่มเติมอีกด้วย  
    
ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่ หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบบัตรทอง ได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ โดยดูรายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค  
    
นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีแอปเป๋าตังจะได้รับการแจ้งเตือนว่าท่านมีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปใช้บริการ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สปสช. ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย เปิดให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง จองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ โดยสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อจองสิทธิฉัดวัคซีนฯ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด    
    
ส่วนผู้ที่อยู่ใน กทม. แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง ให้ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้   
    
สำหรับผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถจองผ่านแอปเป๋าตังได้ แต่ท่านสามารถโทรนัดรับบริการล่วงหน้าก่อน เพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการวัคซีนได้เช่นกัน ทั้งนี้การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการได้โดยตรง   
    
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ในช่วงการรณรงค์ให้ประชาชนไทยรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปีด้วยเช่นกัน ซึ่งประชาชนทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงก็สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง แต่หากไม่ได้ฉีดพร้อมกัน สามารถฉีดเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง  
    
ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี