สศร.ส่ง “เอก ทองประเสริฐ” ดีไซเนอร์แนะเทคนิคต่อยอดอัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าผ้าไทย จ.เชียงใหม่
นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กล่าวว่า สศร.ดำเนินโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยล่าสุด นายเอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ให้ความรู้กลุ่มผ้าทอ นายใจดี หรือแบรนด์ Ninechaidee ยาจกไฮโซ และโคเชต์ ใยกัญชง ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้นักออกแบบและผู้ประกอบการร่วมกันพัฒนาเครื่องแต่งกาย รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดการพัฒนาลวดลายใหม่และให้แปรรูปชุดเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย โดดเด่น และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน โดยให้ค้นหาหรือคิดค้นเรื่องราวที่เป็นทุนดั้งเดิมของแต่ละพื้นที่ และมีอัตลักษณ์มาปรับใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ยังคงตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และพยายามสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ในชุมชน ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อยๆ ให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเครือข่ายที่เข้มแข็งมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเน้นให้มีการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายภายใต้แนวคิด BCG and Sustainability การนำวัสดุสิ่งที่เหลือใช้ ในพื้นที่มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมถึงใช้วัสดุที่ก่อให้เกิด Carbon Footprint น้อยที่สุด
นายเอก ทองประเสริฐ นักออกแบบแฟชั่นเครื่องแต่งกายผ้าไทย กล่าวว่า ตน ได้ออกแบบชุดเครื่องแต่งกายร่วมสมัย สำหรับผู้ชาย ไว้ 8 ชุด โดยจะต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะของผู้ประกอบการ มีทั้งงานปัก งานตัดต่อ โคเชต์ โดยผสมผสานให้มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และต่อยอดให้ผลงานพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ซึ่งการดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตนและดีไซเนอร์ทุกคน พยายามพัฒนาทุนวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการในการออกแบบเครื่องแต่งกายทางวัฒนธรรม ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายให้สามารถมิกซ์แอนด์แมช กับเสื้อผ้าในปัจจุบันให้ได้ และยังจะต้องสร้างรายได้คืนสู่ชุมชนด้วย
นายเอก กล่าวด้วยว่า การผลักดันผ้าไทยให้คนไทยนิยมมากขึ้น จำเป็นต้องเข้าใจมุมมองของผู้บริโภคที่หลากหลายในปัจจุบัน ส่วนตัวยังเห็นว่าการรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของผ้าไทยยังยึดโยงกับกลุ่มประชากรในบางเจเนอเรชั่น ไม่กระจายไปถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ทำให้ลูกค้ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือสร้างความหลากหลาย เพื่อตอบสนองผู้บริโภคทุกกลุ่ม ส่วนการก้าวสู่ตลาดโลกสามารถทำได้ 2 แบบคือ การทำการตลาดในกลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมร่วม อย่างกลุ่มประเทศในเอเชียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน เนื่องจากเรามี Preperception ร่วมกัน แต่หากต้องการทำตลาดกับกลุ่มประเทศอื่น เราอาจต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรม หัตถกรรมพื้นถิ่น แล้วทำการปรับงานออกแบบผ้าไทยให้สอดคล้องกับประเทศนั้นๆ ยกตัวอย่างที่เห็นในปัจจุบันคืองานเขียนผ้าบาติกเพื่อนำไปทำชุดกิโมโน โดยลายผ้าจะออกแบบจากญี่ปุ่น หรือเราขายผ้าคอตตอนออร์แกนิก ให้เขาไปทำต่อเองหรือทางตลาดยุโรปที่กำลังตระหนักถึง Sustainable Movement เราก็สามารถทำให้สอดคล้องได้ไม่ยาก เพราะเรามีความโดดเด่นเรื่องความละเอียดอ่อนในการผลิตผ้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว