ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า วันพืชมงคลของทุกปี เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ฤดูฝน และการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรไทย และด้วยราคาข้าวที่ยืนสูง จะจูงใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวนาปี แม้ต้นทุนการผลิตสูง โดยราคาข้าวในตลาดโลกที่ยืนสูงต่อเนื่อง มาจากแรงหนุนในตลาดโลกที่มีความต้องการสูงเพื่อรับมือกับวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ดันราคาธัญพืชโลก มาตรการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย จากสต็อกข้าวลดลง ประกอบกับสภาพอากาศที่เลวร้าย สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวในผู้ผลิตหลัก และผู้บริโภครายใหญ่อย่างจีนที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ
เมื่อความต้องการข้าวโลกสูง ในขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตมากกว่าคู่แข่ง จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น หนุนราคาส่งออกข้าวไทย และส่งผลมายังราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ให้ยืนอยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 66 (ม.ค.-เม.ย.) ราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 16.3% และราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในประเทศ เพิ่มขึ้น 18.1% ดังนั้น จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวนาปี และดูแลต้นข้าวเป็นอย่างดี แม้จะต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตในระดับสูง (ราคาปุ๋ยเคมี ยากำจัดแมลงและศัตรูพืช ราคาพลังงาน) และต้องเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศของไทยในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-14 พ.ค. 66 พบว่า ปริมาณน้ำฝนสะสมมีน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 57% และยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ 28%
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งหลังของปี 66 ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีอาจได้รับความเสียหายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในช่วงหลังการเพาะปลูกในเดือนพ.ค.ไปแล้ว จะเป็นช่วงที่ต้นข้าวต้องการน้ำมากขึ้น เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตก่อนที่จะพร้อมเก็บเกี่ยว จึงต้องติดตามปริมาณน้ำฝน และภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปี 66 จะน้อยกว่าปีก่อน และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยราว 5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากช่วงแรกของการเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 66 ไม่รุนแรงนัก รวมถึงภาวะฝนทิ้งช่วงกินเวลาไม่นาน คาดว่าผลผลิตข้าวนาปีในปี 66 อาจลดลงราว 4.1-6% หรือคิดเป็น 25.1-25.6 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตข้าวนาปีส่วนใหญ่จะเป็นข้าวที่ปลูกนอกเขตชลประทาน ขณะเดียวกัน เมื่อรวมกับผลผลิตข้าวนาปรังที่ราว 7.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 23.4% จะทำให้ผลผลิตข้าวรวมของไทยในปี 66 อาจอยู่ที่ราว 32.7-33.2 ล้านตัน หรือเฉลี่ยแล้วยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.3% ซึ่งคาดว่าจะเป็นปริมาณผลผลิตข้าวรวมที่ยังเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ดี หากเกิดภาวะแล้งจัด หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานก็อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปีเสียหายมากขึ้น และอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศให้ต่ำกว่ากรอบที่ประเมินไว้
นอกจากนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่สะสมมาในช่วงปลายปี 2566 ให้ลดลง ซึ่งเป็นน้ำเพื่อใช้สำหรับปลูกข้าวนาปรังในปี 2567 ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเอลนีโญน่าจะกินระยะเวลานาน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่ทั้งผลผลิตข้าวนาปรัง และนาปีของไทยในปี 2567 คงจะลดลง ดังนั้นแนวทางการรับมือ และคงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน คือ การวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐ คงต้องเตรียมตัวรับมือกับการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เครื่องมือ-เครื่องจักร ในการสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูก เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุกน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของไทยในระยะข้างหน้า
ขณะที่เกษตรกรอาจมีการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต ด้วยการหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีมากขึ้น อีกทั้งอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรบางส่วนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มราคาสูงตามตลาดโลกก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ทดแทน ท่ามกลางความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรที่มีมากขึ้นในระยะข้างหน้า