พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง จะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์อย่างหนึ่ง จะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

ข้อมูลสังเขป พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน จะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมารเป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1 ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพคู่กันกับการยืนชิงช้า พอถึงรัชกาลที่ 3 ผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้นพระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ความมุ่งหมายมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า “…การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมนิยมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์...ด้วยการซึ่งผู้นั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า...แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ...และที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง...นับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด...”

ดังนั้นความมุ่งหมายของพิธีแรกนาอยู่ที่จะทำให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา แม้จะเป็นความจำเป็นสำหรับบ้านเมืองในสมัยโบราณอย่างไร ถึงปัจจุบันนี้คงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไทย เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ซึ่งพระราชพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่นๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น

การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 เว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่ ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปี อนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ยังเป็นวันเกษตรกรประจำปี

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลบ้านเมืองและบำรุงขวัญเกษตรกรไทย

ข้อมูล: ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สังเขป, ภาพ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง 2565, ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง