กรมชลประทาน จัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 เป็นไปตามแผนไม่ขาดแคลน พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 2566 ย้ำปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการรับมือปรากฏการณ์เอลนี้โญ เน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต


วันนี้ ( 15 พ.ค.66) กรมชลประทาน จัดแถลงสรุปการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 2566 โดยมีนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตนิยมวิทยา และ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี  มล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับช่วงฤดูฝนปี 2566 กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 และมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2566 


“ จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 ของ กอนช. รวมทั้งเตรียมรับมืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า กำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนไว้ล่วงหน้า ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาอีกด้วย” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว


อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 ว่า กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 30 เมษายน 2566) ไว้ทั้งสิ้น 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่ความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ภายใต้มาตรการฤดูแล้งปี 2565/66 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ปัจจุบันได้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พบว่า การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 25,200 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 9,120 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ในเขตพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้ ส่วนด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 พบว่าทั้งประเทศมีการเพาะปลูกรวม 10.38 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกรวม 6.35 ล้านไร่ เป็นไปตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 ที่วางไว้


ด้าน ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตนิยมวิทยา กล่าวว่า   ฤดูฝนปีนี้ของไทยจะเริ่มต้นช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. สิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค. ปีนี้คาดว่าปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปี 2565 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% โดยปีที่แล้วสูงกว่าค่าปกติ 14% เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนช่วงแรกฝนยังตกไม่สม่ำเสมอ กลาง มิ.ย.-กลาง ก.ค. ปริมาณและการกระจายของจะฝนลดลง อาจก่อให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ยาวนานขึ้น เกิดการขาดแคลนน้าด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน 


อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวต่อไปว่า ส่วนช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้น 60-80% ของพื้นที่กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่งซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ แต่ปริมาณยังน้อยกว่าค่าปกติ ส่วนเดือน ต.ค. บริเวณภาคเหนือและภาคอีสานมีฝนลดลงและเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะตอนบนของภาค ส่วนบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง


“คาดการณ์พายุหมุนเขตร้อนในปีนี้ คาดว่ามีแนวโน้มของพายุจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูก (ปลายเดือน ก.พ. – กลาง ต.ต. 66) โดยมีโอกาสสูงสุดที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคอีสานและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน สถานการณ์ปรากฎการณ์เอนโซ่ (ENSO ) ปัจจุบันสถานการณ์ยังเป็นกลาง และมีแนวโน้มสูงที่จะกลายเป็นปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนในเดือน มิ.ย. และอาจจะยาวต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ก.พ.2567 ซึ่งหากเปลี่ยนมาเป็นปรากฎการณ์เอลนีโญ จะมีผลกระทบต่อสภาวะฝนบริเวณประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน จะมีปริมาณฝนทั้งจำนวนวันที่ฝนตกและปริมาณฝนน้อยลง และตกไม่สม่ำเสมอ บางเดือนอาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ต้องเตรียมการวางแผนรับมือ การบริหารจัดการน้ำอย่างละเอียดและรัดกุม”อธิบดีกรมอุตนิยมวิทยา กล่าว