นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการเมืองไทยที่พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ประชาชนมีการตื่นตัวมากขึ้นและต้องการการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะรวมกับพรรคเพื่อไทยที่ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 2 ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุดและที่สำคัญต้องมีเสถียรภาพเพราะหากรัฐบาลไม่มั่นคงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้ โดยรัฐบาลต้องเร่งตั้งให้เร็วที่สุดยิ่งช้ายิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและคะแนนเสียงของรัฐบาลต้องมีมากพอเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองง่ายและไม่อยากเห็นการประท้วงบนถนนหากมีปัญหาจะกระทบท่องเที่ยวที่จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจในปีนี้อีก
ขณะเดียวกันทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ควรต้องเป็นทีมที่มีประสบการณ์การแม้ว่ากรณีที่พรรคก้าวไกลอาจจะไม่มี แต่ต้องดึงคนรุ่นใหม่ๆมาร่วมคิด และทำงานเป็นทีมไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยเฉพาะภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) และหน่วยงานรัฐต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่น กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ เพราะท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้วระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรป(อียู)กับรัสเซียและจีนไทยต้องอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจที่เป็นคู่ค้าหลักอันดับ 1 และ 2 ทั้งคู่ให้ได้ ดังนั้นการเดินเกมระหว่างประเทศจึงต้องเป็นไปด้วยความชาญฉลาด ซึ่ง ส.อ.ท.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกรัฐบาล
โดยนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ การแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้านที่ขณะนี้หนี้ครัวเรือนของไทยสูงมาก ท่ามกลางราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่แพง ซึ่งหากมองเบื้องต้นนโยบายที่หาเสียงไว้ของก้าวไกล และเพื่อไทยที่เหมือนกันคือ การดูแลราคาพลังงานโดยเฉพาะมีเป้าหมายที่จะลดค่าไฟลงจึงเป็นสิ่งที่จะถูกจับตามองใกล้ชิดว่า จะทำได้หรือไม่อย่างไร
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้ง 2 พรรคมีแนวทางเช่นกันโดยเพื่อไทยจะขึ้นเป็นอีก 600 บาทต่อวันในปี 2570 ขณะที่ก้าวไกลนั้นขึ้นทันที 450 บาทต่อวันและปรับทุกปีซึ่งนับเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดและก้าวข้ามการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง(ไตรภาคี) ดังนั้นคงจะต้องติดตามว่าจะมีมาตรการอะไรมาเยียวยาผลกระทบให้กับกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นและผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)หรือไม่ คิดว่าการหาเสียงแบบประชานิยม แจกเงินแบบเก่า ประชาชนมีบทเรียนว่าทำไม่ได้จริงและไม่มีแหล่งที่มาของเงิน ดังนั้นจากนี้นโยบายที่หาเสียงไว้ของพรรคที่เป็นรัฐบาลจะถูกประชาชนติดตามใกล้ชิด ซึ่งต้องทำได้จริงๆ และที่มาของเงินชัดเจนด้วย
สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้จัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมืองให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจไปแล้วหลักๆ 6 ข้อได้แก่ การยกระดับขีดแข่งขันประเทศ การปฏิรูปกฏหมายที่ล้าสมัย การส่งเริมให้ไทยเป็นฮับเทคโนโลยี การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การสนับสนุนเอสเอ็มอี การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG