เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 66 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงสรุปภาพรวมการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ว่า ภาพรวมการเลือกตั้งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 39,293,867 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,238,594 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 75.22 จากข้อมูลในเวลา 9.00 น. ซึ่งจากภาพรวมถือได้ว่า เป็นจำนวนสูงสุดตั้งแต่กกต.เคยจัดการเลือกตั้งมา เมื่อเทียบกับปี 62 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิร้อยละ 74.87 ถือเป็นตัวเลขที่หน้ายินดี ในส่วนของผู้จัด หน่วยงานสนับสนุน และเจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ขอขอบคุณประชาชนผู้มาใช้สิทธิ ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีความหมายมากขึ้น และกกต.จะทำงานให้ดีที่สุดต่อไป

สำหรับจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต โดยยึดตามพื้นฐานของการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งทั้ง 95,137 หน่วยเลือกตั้งโดยทางกกต.ตั้งใจที่จะให้การรายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการลุล่วงชัดเจนตั้งแต่ในเวลา 22.00-23.00 น. แต่ต้องขออภัยที่กว่าจะรายงานครบ ทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากความพยายามของผู้ปฎิบัติงาน ที่อยากให้มั่นใจว่าถูกต้อง ถ้ารวดเร็วแล้วผิด เราไม่อยากทำ ขอบคุณในความไว้เนื้อเชื่อใจ ความอดทน ในการรอผลคะแนนจากเรา ขณะนี้การรายงานผลคะแนนผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 99% มีหนึ่งถึงสองหน่วย ที่ยังไม่สามารถนับคะแนนได้

ในส่วนของส.ส.แบบแบ่งเขต จากผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ได้แก่ พรรคก้าวไกล 112 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย 112 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 68 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 39 พรรครวมไทยสร้างชาติ 23 พรรคประชาธิปัตย์ 22 พรรคชาติไทยพัฒนา 9 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง พรรคไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง และพรรคชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง 

สำหรับผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ของส.ส.บัญชีรายชื่อ มีทั้งหมด 17 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล 39 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย 29 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ 13 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 3 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่งพรรคประชาชาติ 2 ที่นั่ง และพรรคที่เหลือจำนวน 1 นั่ง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคใหม่ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคท้องที่ไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเป็นธรรม  

ขณะที่มีการพบปัญหาในการเลือกตั้ง เช่นกรณีหน่วยเลือกตั้งที่ 10 จ.นครปฐม ที่ต้องงดการลงคะแนนเลือกตั้งเนื่องจากมีพายุฝนฟ้าคะนอง ส่งผลให้เต็นท์ที่จัดไว้สำหรับลงคะแนนล้มเสียหาย จนทำให้ไม่สามารถดำเนินการลงคะแนนเลือกตั้งได้ 

ในส่วนของการรายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง พบว่า มีการฉีกบัตร 24 ราย จำหน่ายสุราบริเวณเขตเลือกตั้ง7 ราย และถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่มีการลงคะแนนแล้ว 4 ราย และคำร้องจนถึงเวลา 9.00 น. ขณะนี้ มี 168 เรื่องประกอบไปด้วย การซื้อเสียง 59 เรื่อง การหลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ 18 เรื่อง และอื่นๆ

“เมื่อปี 62 มีคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งหมด 592 เรื่อง ผมหวังว่าพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง จะทำให้คำร้องทั้งหมดมีน้อยกว่าปี 62 เพราะจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็น ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งผู้สมัคร ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และประชาชนทุกคน พยายามปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกท่านอีกหนึ่งครั้ง ที่ท่านออกมาใช้สิทธิ และอย่าร่วมกระบวนการทำงาน ตรวจสอบสภาวะต่างๆว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยเรียบร้อยหรือไม่ การมีส่วนร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งของประชาชน เป็นสิ่งที่กกต.อยากสนับสนุนส่งเสริมให้มากยิ่งขึ้น เพราะทุกอย่างจะดีขึ้นได้ ก็คือความร่วมมือของภาคประชาชนเป็นส่วนใหญ่” นายอิทธิพร กล่าว

นายอิทธิพร ยังได้กล่าวถึงผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ว่า สามารถแจ้งเหตุไม่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่21 พ.ค. ที่สถานีอำเภอ หรือแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น Smart Vote  

ทั้งนี้ กระบวนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ตามกฎหมายกำหนดให้กกต.ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน ซึ่งภายใน 5 วันนี้ กระบวนการจะใช้เวลามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบความถูกต้อง และจากนั้นจะตรวจสอบว่าผู้สมัครที่ผู้ได้รับการเลือกตั้ง มีข้อร้องเรียนว่ามีการกระทำใด ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรมหรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยกระบวนการทั้งหมด ต้องใช้เวลาภายในกรอบ 60 วัน 

ในส่วนของการพิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดง นายอิทธิพรกล่าวว่า กฎหมายกำหนดว่า ก่อนการประกาศผล กกต. มีอำนาจให้เฉพาะใบส้ม หรือระงับสิทธิสมัครชั่วคราว แต่ถ้าหลังการประกาศผลแล้ว การให้ใบแดง คือการเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง หรือใบดำ การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับว่า กกต. เห็นว่าผู้กระทำผิดต้องรับโทษอะไรบ้าง และทั้งหมดจะต้องเสนอให้ศาลฎีกาพิจารณา

เมื่อถามถึงผลการประชุมกรณีที่กปน.ดึงบัตรเลือกตั้งขาด ให้กับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตห้วยขวาง นายอิทธิพรกล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดให้เหตุที่เกิดในหน่วยเลือกตั้ง เป็นอำนาจกรรมการประจำหน่วยในการวินิจฉัย ซึ่งที่ประชุมกกต.เมื่อวานพิจารณา และทราบข้อมูลว่าหลังเกิดเหตุ กรรมการประจำหน่วยมีการประชุม เห็นว่าไม่ได้เกิดจากการเจตนาจงใจ จึงมีมติให้เป็นบัตรที่สามารถใช้ลงคะแนนได้ จึงจ่ายให้กับมาใช้สิทธิได้นำไปลงคะแนน แต่ผู้ใช้สิทธิกังวลว่า จะกลายเป็นบัตรเสียหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต. เห็นว่า เมื่อกปน.ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง และอำนาจวินิจฉัยเป็นของกรรมการประจำหน่วย ก็ต้องถือว่ากปน.ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องแล้ว  

เมื่อถามถึงการวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล สืบเนื่องจากกรณีถูกร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อ จะมีผลต่อการพิจารณาประกอบการรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่ หรือต้องใช้ระยะเวลาในการประกาศรับรองผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งนายพิธาในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรค จะต้องมีการเซ็นรับรองให้ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งด้วย นายอิทธิพร กล่าวว่า เมื่อเป็นคำร้องที่ยื่นเข้ามาแล้วก็เสมอหนึ่งว่า กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เหมือนกับกระบวนการศาล การจะพูดว่ามีผลหรือไม่มีผล อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับคนที่จะเป็นผู้พิจารณา ดังนั้น ที่แน่ๆ ตอนนี้มีคำร้องแล้ว ก็จะต้องตรวจสอบว่าเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ หากเป็นไปตามระเบียบกรรมการจะรับคำร้อง และสืบสวนไต่สวน ให้ผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งมีขั้นตอนตามลำดับ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการแล้วเสร็จ เลขาธิการ กกต.ให้ความเห็น คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนก็จะกลั่นกรองก่อนว่า คำร้องนั้นมีการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ก่อนจะเสนอกกต. ซึ่งทุกคำร้องก็ปฏิบัติเช่นนี้ ดังนั้น ต้องใช้เวลา และถ้าถึงเวลาก็จะประกาศให้ทราบว่าเป็นอย่างไร 

ส่วนที่มีการร้องเรียนว่าเขตบางพลัดไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง ดูการนับคะแนน แล้วมีการนับคะแนนในห้องลับตา นายอิทธิพร กล่าวว่า ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ใช่เรื่องการนับคะแนน แต่เป็นการนำวัสดุอุปกรณ์มาส่งที่เขตตามขั้นตอนปกติ แต่มีประชาชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงต้องจัดระเบียบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยืนยันว่าไม่ได้มีการนับคะแนนที่เขตบางพลัด เนื่องจากเขตบางพลัดไม่ใช่เขตหลักของการเลือกตั้งที่ 33 จึงถึงต้องรวมนับที่ศูนย์รวมการนับคะแนนที่เขตบางกอกน้อย  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจในเบื้องต้นแล้วว่าเป็นกระบวนการปฏิบัติที่ทำเช่นนี้ทุกหน่วยการเลือกตั้ง  

เมื่อถามถึงกรณีการประท้วงให้มีการนับคะแนนใหม่ที่เขตลาดกระบัง เนื่องจากผู้สมัครได้คะแนนใกล้เคียงกัน นายแสวงกล่าวว่า เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า น่าจะมีลักษณะเช่นนี้อีกจำนวนมาก แต่การจะคัดค้านว่าการนับคะแนนไม่ชอบนั้นต้องทักท้วงระหว่างที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนับคะแนน อ่าน ขาน ขีด ไม่ใช่เห็นว่าเกิน เพราะการเกิน 1 คะแนนไม่ได้มีผลต่อความถูกต้อง หากอยากให้นับคะแนนใหม่ ต้องคัดค้านระหว่างการนับคะแนน และนำมาร้องโดยเร็วภายหลังการเลือกตั้ง หากไม่มีการคัดค้าน ถือว่าผู้สังเกตการณ์เห็นชอบ จึงไม่อยากให้ไปมองแค่ว่า คะแนนมากน้อยเท่าไหร่