ราม วัชรประดิษฐ์ www.arjanram.com “แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไปกว่า 100 ปี แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของ หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ วัดน้อย หนึ่งในพระอมตะเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงอยู่ในความรำลึกนึกถึงของพุทธศาสนิกชนสืบมาชั่วลูกชั่วหลานจวบจนปัจจุบัน” รูปหล่อหลวงพ่อเนียม หลวงพ่อเนียม อมตะเถราจารย์แห่งเมืองสุพรรณบุรี ผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏ ทั้งวาจาสิทธิ์ ญาณวิเศษรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ย่นระยะทาง ฯลฯ เป็นที่เลื่องลือเล่าขานสืบต่อกันมา นับเป็นสุดยอดของพระเถราจารย์ที่คนสุพรรณรุ่นเก่าให้ความเคารพบูชามาก บางคนถึงกับกล่าวว่า ‘ท่านเป็นเสมือนท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ของเมืองสุพรรณ’ ทีเดียว แม้ สมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และ หลวงพ่อทับ วัดทอง ยอดพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังแห่งยุค ยังให้ความเคารพนับถือ และสะสมพระเครื่องของท่านไว้ พระพิมพ์งบน้ำอ้อย ท่านยังเป็นปรมาจารย์ของพระอมตะเถระหลายรูปผู้สืบสายพุทธาคม อาทิ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น เชื่อกันว่า ‘วิชาธรรมกาย’ สายหลวงพ่อสด และ ‘วิชามโนมยิทธิ’ สายหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ อันมีส่วนคล้ายคลึงกันในเรื่องของญาณสมาธินั้น ก็มีต้นกำเนิดมาจากหลวงพ่อเนียม ที่รับช่วงกันมาโดย หลวงพ่อโหน่ง และ หลวงพ่อปาน ผู้เป็นศิษย์ และส่งต่อมาถึงหลวงพ่อสดและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำนั่นเอง วัดน้อย เป็นวัดเก่าอายุกว่าร้อยปี ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี และในสมัยที่ หลวงพ่อเนียม ครองวัดนั้น นับเป็นสมัยที่วัดน้อยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พิมพ์เศียรโล้น หลวงพ่อเนียม ท่านเป็นคนบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี โดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2372 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ตอนเด็กร่ำเรียนอักขรวิธีและภาษาบาลีที่วัดใกล้บ้านตามโบราณประเพณี จนอายุครบบวชได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดป่าพฤกษ์ หรือวัดตะค่า ไม่เป็นที่แน่ชัด จากนั้นเดินทางเข้าสู่เมืองบางกอก (กรุงเทพมหานคร) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย มูลกัจจายนสูตร วิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาอาคมคาถาจากสำนักต่างๆ ซึ่งไม่ปรากฏแน่ชัดเช่นกันว่าท่านพำนักอยู่ที่วัดใดและเป็นศิษย์สำนักใด บ้างก็ว่าท่านอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ บ้างก็ว่าวัดโพธิ์ วัดทองธรรมชาติ หรือวัดระฆังโฆสิตาราม แต่ในสมัยนั้น ถ้าจะกล่าวถึงพระเกจิผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาต้องยกให้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ, หลวงปู่ช่วง วัดรังสี (ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกับวัดบวรฯ), หลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ และ หลวงปู่จันทร์ วัดพลับ  พิมพ์เศียรแหลม เล่ากันว่า หลวงพ่อเนียมศึกษาวิทยาการต่างๆ ที่กรุงเทพฯ ถึง 20 พรรษา ก่อนเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดที่ท่านบวชระยะหนึ่ง จากนั้นย้ายไปอยู่ที่วัดรอเจริญ อ.บางปลาม้า ต่อมาชาวบ้านวัดน้อยได้นิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดน้อย ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมากและกำลังจะกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากขาดสมภารผู้ปกครองดูแล ท่านจึงตัดสินใจรับนิมนต์ จากนั้นก็เริ่มพัฒนาวัดน้อย ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน บูรณะโบสถ์ วิหาร และเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนสร้างหอฉัน จนวัดน้อยมีสภาพเป็นวัดขึ้นมาอีกครั้งและเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ . พิมพ์พระประธาน หลวงพ่อเนียม นับเป็นยอดแห่งพระนักปฏิบัติธรรม ยอดแห่งวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคม จนพระเกจิอาจารย์มากมายดั้นด้นเข้าฝากตัวเป็นศิษย์ นอกจากนี้ยังเป็นพระอริยสงฆ์ผู้ทรงอภิญญาสูงส่ง เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สิริอายุได้ 80 ปี 60 พรรษา ในงานประชุมเพลิง สมเด็จพระสังฆราช (แพ) สมัยดำรงตำแหน่งพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี และ พระหลวงปู่บุ วัดกลางบางแก้ว ได้มาร่วมด้วย เล่ากันว่า หลังจากการฌาปนกิจ ชาวบ้านต่างแย่งกันเก็บอัฐิของท่านเอาไปไว้บูชากันจดหมด เหลือเพียงตะกอนและเถ้าถ่าน และถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีหลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้ว ชาวเรือที่ล่องผ่านหน้าวัดยังคงวักน้ำหน้าวัดมาลูบหัวลูบตัวบูชาแทนน้ำมนต์ ด้วยเชื่อว่าพุทธานุภาพของหลวงพ่อยังคงอยู่เช่นเดิม พิมพ์พระสมเด็จ บารมีและปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อเนียม ยังเป็นที่รำลึกและศรัทธาของศิษยานุศิษย์ ทั้ง พระเกจิคณาจารย์จากรุ่นสู่รุ่น และฆราวาสสืบต่อถึงลูกหลานเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน ผู้คนมากมายก็ยังคงแวะเวียนไปกราบสักการะ “รูปหล่อหลวงพ่อเนียม” และมุ่งมั่นบูรณะวัดน้อยให้คงอยู่ เพื่อเป็นพุทธสถานสืบสานพระบวรพุทธศาสนาของสาธุชนรุ่นหลังต่อไป ถาวรวัตถุต่างๆ ในวัดน้อยที่เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อเนียมที่ยังพอมีให้เห็น ได้แก่ มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท, วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ และศาลาข้างสระน้ำ พิมพ์โมคคัลาน์-สารีบุตร ด้าน “วัตถุมงคล” ที่หลวงพ่อเนียมสร้างขึ้นเพื่อแจกศิษยานุศิษย์และญาติโยมในครั้งนั้น ก็มีมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ ที่สำคัญคือเนื้อหามวลสารที่ท่านสร้างเป็นเนื้อชินตะกั่วผสมปรอท ซึ่งในสมัยนั้นต้องเป็นผู้มีวิชาอาคมเข้มขลังจริงๆ ในการทำปรอทให้แข็งตัวได้ ดังนั้น พระเครื่องของท่านแม้รูปทรงจะดูไม่สวยงาม แต่ด้านพุทธคุณโดดเด่นยิ่งนัก ทั้ง แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม มีอาทิ พระพิมพ์พระประธาน พิมพ์พระคง พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์พุทธลีลา พิมพ์ขุนแผน ฯลฯ ที่เป็นที่นิยมมี “พิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์มารวิชัยเศียรโล้น และพิมพ์เศียรแหลม” วัตถุมงคลของหลวงพ่อเนียม จะไม่ค่อยมีหมุนเวียนในแวดวงนัก เพราะโดยส่วนใหญ่จะสืบทอดต่อกันไปถึงลูกหลานด้วยความศรัทธาในหลวงพ่อและพุทธคุณที่ปรากฏ แต่ก็ยังคงเป็นที่ต้องการและแสวงหาของนักนิยมสะสมอีกมากที่ได้ทราบถึงกิตติศัพท์ความเข้มขลัง เอาเป็นว่าปัจจุบันค่านิยมค่อนข้างสูงและหายากมากครับผม