บมจ.เซ็ปเป้ หรือ SAPPE โชว์ผลงานไตรมาส 1/2566 ร้อนแรงตามคาด ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งแบบไม่หยุดพัก ด้วยรายได้จากการขาย 1,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.2% และมีกำไรสุทธิ 274.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.1% จากความสำเร็จในการส่งเครื่องดื่มโมกุ โมกุ ขึ้นครองแชมป์อันดับ 1 กลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็น Key Countries อย่างฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ เดินหน้าเพิ่มช่องทางการขายต่อเนื่อง ผลักดันเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 25%
นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ว่า บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,520 ล้านบาท เติบโต 49.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขายที่ 1,019 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 274.8 ล้านบาท เติบโต 79.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 153.4 ล้านบาท ทุบสถิติทำผลการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) อีกครั้ง โดยเป็นผลจากตลาดต่างประเทศที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่มีการเติบโตสูงถึง 126.1%, ทวีปเอเชียเติบโต 47.2%, ทวีปอเมริกาเติบโต 45.6%, ตะวันออกกลางเติบโต 42.3% และประเทศไทยเติบโต 15.0%
โดยทวีปยุโรป ถือเป็นตลาดที่มีความโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแบรนด์ โมกุ โมกุ (Mogu Mogu) สามารถสร้างกระแส Brand Love ในภูมิภาคนี้ได้สำเร็จ และครองแชมป์อันดับ 1 ในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ในหลายประเทศ มีจุดเด่นของสินค้าที่แข็งแกร่ง ด้วยภาพลักษณ์เครื่องดื่มคุณภาพจากประเทศไทยที่มีรสชาติอร่อย ให้ทั้งความสดชื่น แปลกใหม่ มอบความสนุกไปกับการดื่มและเคี้ยววุ้นมะพร้าวชิ้นโตที่ไม่เหมือนใคร โดยหลังจากกลยุทธ์ ‘France First’ ประสบความสำเร็จในการขยายฐานผู้บริโภคในประเทศฝรั่งเศส เป้าหมายต่อไปของเราคือประเทศใกล้เคียง ซึ่งเราสามารถขยายช่องทางการจัดจำหน่ายโมกุ โมกุ เพิ่มเติม ไม่ใช่เพียงขายในไชน่าทาวน์ หรือไทยทาวน์เหมือนสินค้าเอเชียทั่วไป แต่เราเริ่มวางขายในห้างค้าปลีก Mainstream และยังมีแผนจะขยายเพิ่มเติมไปยังห้างค้าปลีกอื่นๆ ที่ยังมีช่องว่างอีกมากให้ครอบคลุมกว่าเดิม เพื่อส่งมอบประสบการณ์ความอร่อยจากสินค้าคุณภาพของไทยไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลกให้มากที่สุด จึงเป็นความภูมิใจของเซ็ปเป้ ที่สามารถสร้างแบรนด์ไทย บริหารโดยคนไทย ให้ผู้บริโภคต่างชาติได้มีประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์ของเรา จนสะท้อนให้เห็นผ่านผลประกอบการตลอดช่วงที่ผ่านมา
สำหรับตลาดต่างประเทศในไตรมาส 1/2566 ยอดขายในประเทศฝรั่งเศสถือว่าเติบโตได้อย่างน่าภูมิใจ เป็นผลจากการที่เรามุ่งเน้นทำตลาดในพื้นที่ โดยเจาะกลุ่มวัยเด็กจนถึงกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน (First Jobber) เพิ่มการกระจาย Outlet และทำชั้นวางสินค้าให้โดดเด่น รวมถึงการโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ด้านตลาดในทวีปเอเชียก็มีอัตราการเติบโตที่ดีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ ที่นอกจากยอดขายดีมากจนขึ้นแท่นเครื่องดื่มอันดับ 1 อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลจากการทำตลาดมาต่อเนื่องยาวนาน และปีที่ผ่านมาได้ใช้กลยุทธ์ Global Influencer Marketing ด้วยวง “บีทีเอส” (BTS), การร่วมเป็นผู้สนับสนุนซีรีส์เกาหลีใน Netflix และยังประสบความสำเร็จในการต่อยอดแบรนด์ โมกุ โมกุ ให้เป็น Lifestyle Brand ในโลกเสมือนผ่านแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย “เซ็ปเพ็ตโต้ (ZEPETO)” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมในหมู่ Gen Z อย่างมาก กระแสการตอบรับดี จนมีการทำการตลาดต่อเนื่องเป็น Season ที่ 2 เพื่อสื่อสารกับผู้เล่นกว่า 400 ล้านรายทั่วโลกที่อยู่ในแพลตฟอร์มนี้อีกด้วย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAPPE กล่าวอีกว่า ด้านตลาดในประเทศ เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี โดยในไตรมาสแรกนี้ ได้ทยอยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ไปแล้ว 7 SKUs อาทิ คอลลาเจนชนิดผง เซ็ปเป้ บิวติ พาวเดอร์ สติกซ์ (Sappe Beauti Powder Stix) ซึ่งนับเป็นรายแรกของไทยในการส่งคอลลาเจนผงลงเล่นในตลาดช่องทาง Traditional Trade ด้วยราคาเข้าถึงง่าย, น้ำผสมวิตามินแบรนด์บลู (B’lue) 2 รสชาติแปลกใหม่ ที่อร่อยโดนใจรับหน้าร้อนคือ ยูซุ-แตงโม และพีช-บ๊วยอุเมะ, เครื่องดื่ม Sappe Beauti Drink กับฉลากลายพิเศษ ออกแบบโดยศิลปินชื่อดัง give.me.museums รุ่น Summer in Love Limited Edition 2 รสชาติคือ Summer First Love และ Lucky in Love โดยในปัจจุบัน เซ็ปเป้มีสัดส่วนยอดขายในประเทศ 19.4% และต่างประเทศ 80.6%
สำหรับแผนการขยายกำลังการผลิต ปัจจุบันอยู่ระหว่างเพิ่มไลน์การผลิตสินค้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 30% และในปี 2567 – 2568 จะทยอยเพิ่มไลน์การผลิตใหม่อีกปีละ 30% เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ความคืบหน้าการขยายคลังสินค้าอัจฉริยะควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และใช้เครื่องจักรในการขนย้าย คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการกระจายสินค้าลงอย่างมีนัยสำคัญ