คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์  เศรษฐช่วย

ขณะมีกระแสข่าวโหมกระพือออกมาเป็นระยะๆว่า “ประเทศสหรัฐฯอาจจะถังแตกเร็วๆนี้” แต่ทว่าหากลองหันไปศึกษาถึงความแข็งแกร่งของสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯแล้ว จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วนำไปสู่ความถาวรแบบยั่งยืนแทบทั้งสิ้น

จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาสหรัฐฯได้ระบุเอาว่า ในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเกือบสี่พันแห่ง!!!

อย่างไรก็ตามในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่นั้น ดูเหมือนว่ายังมีมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯหลายๆสถาบันที่ไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ต้องปิดตัวไป    

แต่ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยที่มีความแข็งแกร่งมากกว่าสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ปรับตนเองยอมเปลี่ยนแนวหันไปเปิดหลักสูตรสอนทางออนไลน์ 100% ซึ่งส่วนใหญ่ต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

ทั้งนี้ยังมีโจทย์ที่ผู้คนต้องการจะทราบในหัวข้อที่ว่า เรียนแขนงใดที่ได้รับค่าตอบแทนมากที่สุด?

จากผลการวิเคราะห์ของนิตยสารฟอร์ปส์ที่ดึงเอาข้อมูลมาจากกระทรวงศึกษาสหรัฐฯออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2023 นี้ว่า  นักศึกษาที่ศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์และเพิ่งจบสามารถรับผลตอบแทนจากการทำงานอย่างน้อยสองแสนดอลลาร์ต่อปี โดยอันดับหนึ่งก็คือนักศึกษาที่จบจากฮาร์วาร์ด  ส่วนนักศึกษาที่จบจาก California Institute of Technology มาเป็นอันดับสอง และนักศึกษาจาก Carnegie Mellon University อยู่ในอันดับที่สาม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียอยู่ในอันดับที่สี่ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพรินส์ตัน อยู่ในอันดับห้า

ถัดจากการเรียนด้านคอมพิวเตอร์ รองลงมาก็คือ ด้านการเงินและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับค่าตอบแทนไล่เลี่ยกับแขนงวิชาคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว!!!

เท่าที่ผ่านมาคนอเมริกันส่วนใหญ่มักจะมีค่านิยมส่วนบุคคลอันแข็งแกร่งทางด้านมีจิตกุศลในการเป็นผู้ให้ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยล้วนแล้วแต่มีองค์กรที่รับผิดชอบทางด้านบริหารจัดงานเงินบริจาค   นั่นก็คือ “มูลนิธิ” (Foundation) โดยส่วนใหญ่แล้วในสหรัฐฯมักจะใช้ศัพท์ “เอ็นดาวเม้นท์” (Endowment) แทน โดยขณะนี้มูลนิธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีมีถึงหนึ่งหมื่นห้าพันแห่งในสหรัฐฯ

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแห่งชาติ 397 ได้รับเงิบบริจาคหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นทางด้านค้นคว้าวิจัย ซึ่งมีการเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก โดยเฉลี่ยแล้วมหาวิทยาลัยแห่งชาติเหล่านี้จะได้รับเงินบริจาคอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์

ซึ่งเงินบริจาคที่แต่ละสถาบันการศึกษาได้รับมานั้น จะนำมาใช้เป็นกองทุนต่อเนื่อง เพื่อต้องการจะบรรลุเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยผู้ที่มอบเงินบริจาคสามารถกำหนดวิธีการและระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยจะใช้เงินที่พวกเขาบริจาคให้

ทั้งนี้ผู้บริหารดูแลเงินบริจาค ก็นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างศรัทธาให้เกิดแก่บรรดาผู้บริจาค ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปีค.ศ. 1972 โดยขณะนี้มียอดเงินบริจาคมากถึง 53.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นยอดเงินบริจาคให้แก่สถาบันการศึกษาสูงที่สุดทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลก  โดยยอดเงินบริจาคของฮาร์วาร์ดยังมีมากกว่าจีดีพีของบางประเทศด้วยซ้ำไป!!!

ทั้งนี้รายได้ส่วนหนึ่งของมูลนิธิฮาร์วาร์ดจะนำมาใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อความอยู่รอด เพื่อความยั่งยืน และเพื่อความมั่นคง โดยกองทุนนี้จะถูกแบ่งออกเป็นกองทุนย่อยๆอีกกว่า 1400 กองทุน

ส่วนหนึ่งจะจ่ายเป็นการกระจายประจำปีเพื่อสนับสนุนงบประมาณของมหาวิทยาลัยและสนับสนุนคนรุ่นต่อๆไป

ส่วนการบริหารจัดการของกองทุนนี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังได้จัดตั้งบริษัท “Harvard Management” มาเป็นฝ่ายจัดการ ซึ่งบริษัทแห่งนี้เป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริหารของบริษัทจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย

อนึ่งศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯนับว่าเป็นแหล่งบริจาคสำคัญให้กับสถาบันที่ตนจบการศึกษาอีกแหล่งหนึ่งเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่แล้วบรรดาศิษย์เก่ามักจะกลับมาให้ความช่วยเหลือต่อมหาวิทยาลัยที่ตนศึกษาจบไป ซึ่งมีผลทำให้สถาบันการศึกษาสามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่าย นำไปสร้างโครงการใหม่ๆ และยังนำเงินบริจาคต่อยอดมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาปัจจุบันและในอนาคต  นับได้ว่าศิษย์เก่าก็เป็นส่วนหนึ่งในการหาเงินเข้าสู่สถาบันการศึกษาและยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันที่โดยทั่วไปแล้วหากมหาวิทยาลัยใดก็ตามสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับศิษย์เก่าเป็นอย่างดี ศิษย์เก่าก็มักจะเป็นแรงสนับสนุนและยังเป็นกำลังสำคัญในการระดมทุน สร้างการตลาดแบบปากต่อปากได้อย่างล้ำเลิศอีกด้วย!!!

ทั้งนี้ผมขอตัวอย่าง 2 เรื่อง ของศิษย์เก่าในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯสองแห่ง ที่ต่างก็มีความจงรักภักดีบริจาคเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้แก่มหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษา กรณีแรกก็คือ “ไอรา ฟุลตัน” วัย 91 ปี เกิดที่ รัฐแอริโซนา เขายึดอาชีพทางด้านการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักธุรกิจ ซึ่งอดีตที่ผ่านมาเขาเติบโตในบ้านเล็กๆ เริ่มทำงานด้วยการเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ให้กับลูกค้ากว่า 500 รายในแต่ละวัน และเมื่อถึงวัยที่จะเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เขาก็ได้เข้าศึกษาที่ Arizona State University ด้วยการได้รับทุนการศึกษา ด้านการเป็นนักกีฬาฟุตบอล

ในช่วงสามสิบปีระหว่างปีค.ศ. 1970-2000  ไอรา ฟุลตัน สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้ใจบุญที่เอื้อเฟื้อต่อองค์กรกุศล สถาบันการศึกษาและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรทั่วประเทศ และในปี 2003   ไอรา ฟุลตันได้บริจาคเงิน 50  ล้านดอลลาร์เพื่อก่อตั้งอาคารวิศวกรรมศาสตร์ให้กับ Arizona State University   และไม่กี่ปีต่อมาเขาก็ได้บริจาคเงินอีก 100 ล้านดอลลาร์ มีผลทำให้ขณะนี้คณะวิศวะของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ได้รับการจัดอันดับสถาบันยอดเยี่ยมในอันดับที่ 41 ของสหรัฐฯ

และถึงแม้ว่าไอรา ฟุลตัน จะเป็นชาวแอริโซนาโดยกำเนิดก็ตาม แต่เขาได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวรัฐยูทาห์เป็นอย่างมาก เพราะเขาควักเงินบริจาคถึง 50 ล้านดอลลาร์ให้กับ “มหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง” (Brigham Young University) ที่เมืองโพรโว รัฐยูทาห์ ให้นำไปสร้างอาคารใหม่ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และยังบริจาคให้กับมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง เพิ่มอีกหนึ่งร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อให้นำไปสร้างหลักสูตรและตั้งศูนย์แอนิเมชั่นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ดังเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Robot และ เรื่อง Star Wars โดยเขาเน้นให้ศูนย์นี้สอนให้นักศึกษาเรียนถึงวิธีการสร้างงานศิลปะ และฝึกให้นักศึกษาทำงานกันเป็นทีม ในการสร้างภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ จนในที่สุดศูนย์แอนิเมชั่นของมหาวิทยาลัยบริกแฮมมีชื่อเสียงโด่งดังและยังเป็นศูนย์แอนิเมชั่นที่มีโปรแกรมดีที่สุดในโลกอีกด้วย

เมื่อปีค.ศ. 2006 นิตยสาร BusinessWeek ได้จัดให้ไอรา ฟุลตัน อยู่ในอันดับที่ 36 ของผู้ใจบุญที่มีใจกว้างที่สุดทั้งหมด 50 คน

ส่วนผู้ใจบุญอีกท่านหนึ่งก็คือ “ริค คารูโซ” มหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจาก “ยูเอสซี” และไปเรียนต่อทางด้านกฎหมายที่ “มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์” ก็ได้บริจาคเงิน 50 ล้านดอลลาร์ให้กับมหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ โดยสถาบันการศึกษาแห่งนี้มอบเกียรติตั้งชื่อของคณะกฎหมายตามชื่อของเขาอีกด้วย โดยขณะนี้โปรแกรมที่โดดเด่นด้านไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท (Dispute Resolution) อยู่ในอันดับที่หนึ่งของสหรัฐฯติดต่อกันมานานถึง 13 ปีนำหน้าเหนือกว่าฮาร์วาร์ดและสแตนฟอร์ดด้วยซ้ำไป

เมื่อสิบปีก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยก็เคยส่งผู้พิพากษา และทนายความจำนวน 60 คนไปเข้าโปรแกรมดังกล่าวอีกด้วย

และเมื่อปีค.ศ. 2015 “ท่านอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์” แห่ง “มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่” ยังได้นำคณะผู้บริหาร โดยมี “รองอธิการบดีชฎิลรัตน์ อัศววิวัฒน์พงศ์”  “รองอธิการบดีชุติมา ชวสินธุ์” เดินทางไปสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทั้ง มหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง (Brigham Young University)  มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ (Pepperdine University) โดยทั้งสองสถาบันต่างก็ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นดูเหมือนว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่มีจิตวิญญาณแห่งความเอื้ออาทรและเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่บริจาคเงินเพื่อสร้างสรรค์และส่งเสริมทางด้านการศึกษา โดยคนอเมริกันที่มีความพร้อมต่างเล็งเห็นและต้องการที่จะรักษาความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาให้แก่ชาติบ้านเมืองของเขา ฉะนั้นพี่น้องคนไทยที่มีความเพรียบพร้อมในทุกๆด้านแล้ว ก็น่าจะนำไปเป็นแบบอย่างในการสนับสนุนสถาบันการศึกษา เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่ลูกหลานชาวไทยของเราก็น่าจะดีละครับ

 

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/Harvard/