ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

อยากเริ่มต้นการพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจ บางตัวในเชิงเปรียบเทียบ โดยเรื่องแรกที่จะกล่าวถึงคือเรื่องหนี้สาธารณะ

แต่ก่อนจะกล่าวถึงตัวเลข ก็ขอมาทำความเข้าใจถึงที่มาของหนี้สาธารณะกันก่อน ต้องบอกว่าการก่อหนี้สาธารณะเป็นผลพวงทางแนวคิดทางเศรษฐกิจของ Sir John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ได้แนะนำให้ใช้นโยบายการคลังในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวคือปีค.ศ. 1929-1930 เกิดเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมากในสหรัฐฯและยุโรป

ทว่าในช่วงนั้นรัฐบาลสหรัฐฯและตะวันตกยังยึดแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบเดิม คือ พยายามรักษาดุลงบประมาณ คือ มีรายได้เท่าไรก็ใช้เท่านั้น แล้วรอให้เศรษฐกิจปรับตัวเอง แต่เคนส์กลับเสนอว่าถ้าจะรอนานขนาดนั้น เราจะตายกันหมด “In the Longrun we’re all dead.” จึงแนะนำให้ทำงบประมาณขาดดุลคือ จ่ายมากกว่ารับแล้วใช้เงินก้อนนั้นไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังอธิบายว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและโตขึ้น เราก็สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น และนำเงินกลับมาใช้ “หนี้สาธารณะ” อันเกิดจากการขาดดุลงบประมาณ

เมื่อรัฐบาลในสมัย แฟรงกิ้น ดี.รุสเวล นำแนวคิดแบบนี้มาใช้ปรากฏว่าได้ผล คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลทั้งหลายเริ่มใช้นโยบายขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามเมื่อดำเนินนโยบายนี้ไปแล้วก็กลายเป็นความเคยชินเสพติดของรัฐบาล เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้ง และก่อให้เกิดนโยบายประชานิยมตามมาเพื่อการสืบทอดอำนาจต่อไป

เรื่องน่าวิตกกังวล คือ มันเสพติดทั้งรัฐบาลผู้กุมนโยบายและประชาชนผู้บริโภค เพราะมันสร้าง “หนี้สาธารณะ” พอกพูนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้คิดกันว่าแนวคิดของเคนส์นั้น ท่านให้ใช้นโยบายขาดดุลแก้ปัญหาเฉพาะกาล เป็นครั้งคราวเมื่อเกิดเหตุจำเป็นจริงๆ

ต่อมาในยุคปัจจุบันจึงปรากฏว่ามีหลายๆประเทศก่อหนี้สาธารณะกันเป็นจำนวนมหาศาล เช่น สหรัฐอเมริกามีหนี้ถึง 31 ล้านล้านดอลลาร์ จนชนเพดาน และจะต้องขยับต่อ ส่วนญี่ปุ่นก็มีหนี้สาธารณะกว่า 200% ต่อ GDP จึงกลายภาระที่ต้องหาเงิน หารายได้และกู้ยืมเงินใหม่ไปใช้หนี้เก่า ทำให้ขาดงบประมาณดูแลสาธารณูปโภค และสวัสดิการของประชาชน

ในขณะที่ในบางประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับขั้วสหรัฐฯ เช่นรัสเซีย หนี้สาธารณะกลับลดลงอย่างปี 2022 เหลือเพียง 16.6% ต่อ GDP จีนมีหนี้สาธารณะ 13.7% ต่อ GDP อินเดีย 19.1% ต่อ GDP

ด้านเนเธอแลนด์ 380.5% ต่อ GDP สหรราชอาณาจักร 287% ต่อ GDP และสวิสเซอร์แลนด์ 280.5% ต่อ GDP ซึ่งแม้ทั้ง 3 ประเทศจะมีหนี้สาธารณะลดลง แต่ก็นับว่ายังสูงอยู่ และเป็นภาระหนักของประเทศ ที่ตกบนบ่าประชาชนต้องใช้หนี้ในอนาคตต่อไป

หนี้สาธารณะของไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 มีจำนวนกลมๆ 9.828 ล้านล้านบาท แม้จะอ้างว่า 70% เป็นเงินกู้เพื่อการลงทุนก็ตาม แต่ก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ตลอดรวมถึงเงินกู้กับการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ในช่วงจังหวะเวลาที่หนี้สาธารณะกำลังเพิ่มใกล้ชนเพดานที่ 70% ต่อ GDP และประเทศกำลังต้องการเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ความสามารถในการหารายได้ของประเทศไทยลดลงเป็นลำดับ เช่น การส่งออก แม้การท่องเที่ยวจะกระเตื้องขึ้นก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจพึ่งพาได้ในระยะยาว หรือในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโรค หรือภัยสงคราม

พูดถึงภัยสงคราม ผลกระทบต่อมหาอำนาจนั้นก็มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ GDP ของรัสเซียในปี 2023 (พ.ศ.2566) คาดว่าจะโต 1.2% จากการหดตัวเมื่อปีที่แล้วคือ 0.8% แต่จะมีงบประมาณขาดดุลมากขึ้นเพราะผลของสงคราม และหากรัสเซียไม่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค จะมีปัญหาการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ

ซึ่งเรื่องนี้ทางรัสเซียก็มีแผนรองรับที่จะร่วมมือกับจีนในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยีเพื่อการอุตสาหกรรมซึ่งกันและกัน

ส่วนจีนนั้นเกือบทุกสำนักคาดว่า จีนจะยังคงเติบโตทางเศรษฐกิจแม้อัตราการเติบโตจะลดลงเหลือเพียง 3% ก็ตาม ทว่าจีนก็ยังคงมีปัญหาในการต้องเพิ่มภาระในค่าใช้จ่ายทางทหารที่ถูกกดดันจากสหรัฐฯ

สำหรับสหรัฐฯ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงแล้ว แต่เฟดก็ยังคงต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเกิน 5% ไปแล้ว และมีทีท่าว่าจะยังคงต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพราะต้องดำเนินนโยบาย QT คือลดปริมาณดอลลาร์ที่ตนเองพิมพ์ออกไปล้นตลาดตั้งแต่คราวทำนโยบาย QE คือเพิ่มปริมาณเงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยจึงยังจำเป็น ทว่ามันก็กระทบกับภาคการธนาคารที่มีธนาคารที่อาจต้องปิดตัวติดตามกับอีกหลายแห่ง เพราะการขึ้นดอกเบี้ยกับนโยบาย QT (ลดปริมาณเงิน) มีโอกาสส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะโตได้ประมาณ 1%

ทว่าสหรัฐฯก็ยังมีภาระด้านค่าใช้จ่ายทางทหารอีกมหาศาลคือ ปี 2023 นั่นคือ 8.1 แสนล้านเศษ จนทำให้หนี้สาธารณะต้องเพิ่มขึ้นอีก และคาดว่าจะเพิ่มถึง 1 ล้านล้านในที่สุด ซึ่งนี่จะเป็นภาระต่อการคลัง และการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

บทเรียนจากสหรัฐฯ ทำให้เห็นได้ว่าการสร้างความมั่นคงของชาติด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหาร ไม่อาจตอบโจทย์ในการสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนได้ เพราะไม่มีชาติใดที่จะสร้างความมั่นคงของตนเองได้ท่ามกลางความไม่มั่นคงของชาติอื่น

การแข่งขันกันทางทหารทำให้ค่าใช้จ่ายทางทหารของโลกเพิ่มขึ้นในปี (2021) ถึงประมาณ 71.4 ล้านล้านดอลลาร์ (โกลบัลไทม์) และมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อไปในปี 2022 และ 2023

ด้านงบประมาณด้านการป้องกันประเทศของไทย พบว่าในปี พ.ศ.2563 มีงบทหารที่เป็นอันดับที่ 27 ของโลก ส่วนกำลังพลมีมากเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย นับว่าเพิ่มกว่า 2 เท่าในรอบ 12 ปี ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจไทยอยู่ในลำดับที่ 26 ซึ่งในประเด็นนี้แม้จะดูเหมาะสมกันระหว่างงบทหารกับขนาดทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าประเด็นอยู่ที่ความเหมาะสมในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทางทหาร

ทั้งนี้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ทางทหารที่เป็นหลักมาโดยตลอด คือ การต่อสู้ป้องกันแบบเบ็ดเสร็จ (Total Defensive Strategy) นั่นคือเน้นการป้องกันไม่ใช่การรุกและต้องการผนึกกำลังอำนาจของชาติในการป้องกันชาติ

ดังนั้นจึงต้องหันมาพิจารณาว่ามีความเหมาะสมเพียงใด และสอดรับกับยุทธศาสตร์ของชาติหรือไม่ในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของชาติหรือไม่ ในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เพราะมิฉะนั้นมันจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

อนึ่งการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงควรใช้นโยบายการเมืองระหว่างประเทศ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า การแข่งขันกันเพิ่มกำลังทหารและอาวุธในระหว่างเพื่อนบ้าน ส่วนกับมหาอำนาจเราคงไม่มีปัญญาไปต่อกรกับเขาแน่นอน

ประเด็นสุดท้ายการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนทางเทคโนโลยี เพื่อมาพัฒนาการทหารหรือนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมไทย