10 พ.ค.2566 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยามหิดล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม จัดงานแถลงข่าว "วอนรัฐบาลใหม่เร่งสร้างภูมิต้านทานตั้งแต่ปฐมวัย เติบโตไปไม่ใช้ยาเสพติด" ที่ห้องประชุมเจริญคุณธรรม ชั้น 3 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

นางสาวอารีภักดิ์ เงินบํารุง ผู้อํานวยการสํานักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สํานักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า มีผู้เข้ารับการบําบัดยาเสพติดเฉลี่ยปีละ 2 แสนคน เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ในสัดส่วน 1 ใน 4 ของผู้เข้ารับการบําบัดรักษาทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ยาเสพติดครั้งแรกอายุ 15-19 ปี เป็นช่วงวัยที่ควรเฝ้าระวังและป้องกันอย่างใกล้ชิด จากผู้เข้ารับการบำบัดทั่วประเทศเฉลี่ยปีละประมาณ 2 แสนคน เป็นผู้อายุ 25 ปีขึ้นไป ประมาณ 140,000 คน อายุ 15-24 ปี ประมาณ 54,000 คน ส่วนมากเป็นผู้เสพยาบ้า 75-80% ยาไอซ์ 5-10% จากที่ประชุมยาเสพติดโลกเห็นว่า ผู้เสพคือผู้ป่วย ควรได้รับการรักษา ซึ่งยาเสพติดไม่มีวันหมดไปจากโลก ดังนั้น แนวทางป้องกันมี 2 ด้าน คือ สภาพแวดล้อม สังคม และ สร้างภูมิคุ้มกันในตัวเด็ก จากงานวิจัยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา มีผลต่อสุขภาพและสมองของเด็ก การหาเสียงกับคำว่าเสรีภาพซึ่งเชื่อมโยงกับอบายมุขเป็นสิ่งที่อันตรายต่อเยาวชน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อํานวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์ประเทศไทยปัจจุบันถูกปรับทัศนคติให้ยอมรับยาเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายรัฐ การหาเสียงต่างๆ เช่น กัญชาเสรี บุหรี่ไฟฟ้า บ่อนถูกกฎหมาย รวมถึงโครงสร้างทางสังคมที่เปิดโอกาสเข้าถึงยาเสพติดง่ายขึ้น ราคาถูกลง จากการศึกษาวิจัย 1,309 ครอบครัวในชุมชนแออัด พบว่า ครอบครัวยากจนที่ได้รับเงินอุดหนุนทารกแรกเกิดเดือนละ 600 บาท ถึงอายุ 6 ปี พ่อแม่ติดยาเสพติดร้อยละ 6 หรือ 83 ครอบครัว ซึ่งมากกว่าครอบครัวไม่ยากจน 2.4 เท่า และ ร้อยละ 60 ของครอบครัวยากจนที่เสพยาจะเลี้ยงดูลูกไม่เหมาะสม ทั้งการละเลย ใช้ความรุนแรงกับเด็ก ในปี 2566 รัฐต้องอุดหนุนเงินทารกแรกเกิดถึง 2.58 ล้านคน ใช้งบประมาณ 16,321.18 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ามีพ่อแม่ยากจนใช้ยาเสพติดและเป็นผู้ดูแลเด็กปฐมวัยประมาณ 154,800 ครอบครัว และมีเด็กปฐมวัยประมาณ 92,880 คนที่ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ซึ่งเงินที่รัฐจ่ายไป ไม่มีการศึกษาเงื่อนไขเชื่อมโยงให้พ่อแม่เด็กเข้ารับการบำบัดยาเสพติด และฝึกการเลี้ยงลูกให้เหมาะสม

งานวิจัยดังกล่าว พร้อมถ่ายทอดให้ครูปฐมวัย ซึ่งครูหลายคนปฏิบัติมานานแล้ว แต่อาจไม่ทราบว่านั่นคือกระบวนการ EF ดังนั้น รัฐควรส่งเสริมให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เสรีภาพต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานความปลอดภัย อย่ามองข้ามอันตรายยาเสพติด ขอให้รัฐบาลใหม่หันมาลงทุนกับครูปฐมวัยมากขึ้น ซึ่งมีผลวิจัยจากสถาบันรองรับ โดยเฉพาะกระบวนการเสริมทักษะ EF ไม่ใช่ป้องกันยาเสพติดอย่างเดียว หากครอบคลุมในมิติคุณธรรม เพศสัมพันธ์วัยเรียน รวมถึงพนันออนไลน์ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการตัดสินใจให้เด็กตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเด็กอยู่กับครูมากกว่าอยู่บ้าน โรงเรียนจึงเป็นสถานบ่มเพาะอย่างดี หากครูได้รับการฝึกอบรมและติดตามผลตามกระบวนการวิจัย ปัจจุบันมีการนำ EF เข้าไปสอดแทรกในการเรียนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้ว เชื่อว่าในอนาคต EF จะเข้าไปอยู่ในระบบการบริหารประเทศ เพราะมีการประชุมหารือกันมา วงการศึกษารู้จัก EF เป็นอย่างดี ดังนั้น อยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อเด็กในอนาคต

ศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ รองผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หญิงที่เสพยาบ้า เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เด็กน้ำหนักน้อย ต้องอยู่ในตู้ควบคุมอุณหภูมินาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก ส่วนหญิงที่ใช้กัญชาเกินขนาด ทั้งในรูปอาหาร ขนม หรือใช้ร่วมกับบุหรี่ เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก เด็กน้ำหนักน้อย หรือคลอดก่อนกำหนด ไม่สมบูรณ์ พัฒนาการช้า และมีผลกระทบต่อสมอง เนื่องจากมีรายงานผลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า การที่เด็กได้รับกัญชาตั้งแต่ในครรภ์และในช่วงปฐมวัยมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักแรกเกิดต่ำ เส้นรอบวงศีรษะลดลง การขาดดุลทางความคิด (ความสนใจ การเรียนรู้และความจำ) การรบกวนในการตอบสนองทางอารมณ์ที่นำไปสู่ความก้าวร้าว ความหุนหันพลันแล่นสูง หรือความผิดปกติทางอารมณ์ และเสี่ยงที่จะใช้สารเสพติดเมื่ออายุมากขึ้น ในประเทศไทยกัญชาทำให้หญิงที่อยู่ในช่วงภาวะการเจริญพันธุ์ในเขตชนบท ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี มีการใช้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ด้านผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากปัญหาข้างต้นที่กล่าวมานั้น เป็นที่มาของงานวิจัยตลอด 10 ที่ผ่านมา การป้องกันยาเสพติดควรเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จากการวิจัยพบว่า Executive Functions หรือ EF เป็นกระบวนการทำงานของสมองผ่านประสบการณ์ที่ได้พบ เด็กที่มีประสบการณ์ไม่ดีมีแนวโน้มติดยาเสพติดสูง การป้องกันคือการพัฒนาครูปฐมวัย ผลการวิจัย พบว่า ในมิติของครู สามารถจัดการเรียนการสอนและสอดแทรกทักษะ EF ได้ เช่น สอนความอดทนอดกลั้น ความรับผิดชอบ การจัดการชีวิตตนเอง ไม่คิดแทนเด็ก สิ่งสำคัญคือ การสร้างและรักษาตัวตนเด็ก ยกตัวอย่าง การพัฒนาทักษะ EF เช่น เด็กที่ต้องตื่นไปโรงเรียน แม้จะง่วงนอนแต่ต้องฝืนไปเรียน ซึ่งเป็นการยั้งคิด ไม่เอาแต่ใจตนเอง เกิดความรับผิดชอบ เพราะ EF คือสมองส่วนเหตุผล สติปัญญา อารมณ์และการตัดสินใจ ในทางกลับกัน หากเพื่อนชวนไปเสพยา ประสบการณ์ไม่ดีของเด็กเตือนว่า ถูกครอบครัวใช้ความรุนแรงทั้งร่างกายและวาจา เด็กจะมีโอกาสตัดสินใจเสพยาตามเพื่อนมากขึ้น หากครูฝึกให้เด็กรู้จักแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ จะช่วยในการตัดสินใจได้มากขึ้น เช่น หากนำกระดาษไปแขวนไว้ การวาดภาพก็จะยากขึ้น เด็กจะต้องหาวิธีวาดภาพ ซึ่งต่างจากกระดาษที่วางบนพื้นแบบปกติ ทำให้เด็กเกิดการทดลอง ความท้าทาย และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น