ด้วยการทำงานที่จะต้องมีการบูรณาการเป็นมวลรวม จึงทำให้ทางสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้ร่วมกับจังหวัดสุโขทัย และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสการนำเสนอสินค้างานหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน และเส้นทางการท่องเที่ยว ตลอดจนการเจรจาทางธุรกิจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย มากขึ้น
ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัด
โดย นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มโอกาสการนำเสนอสินค้างานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน กิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยว ตลอดจนการเจรจาทางธุรกิจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย ส่งเสริมและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของจังหวัด เกิดการสร้างและกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เมืองมรดกโลก และเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ขององค์การยูเนสโก
ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัย ได้บรรจุแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวลงในประเด็นการพัฒนาจังหวัด ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน ยกระดับคุณภาพและการบริการและผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มูลค่าสูงมุ่งเน้นพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้รับมาตรฐานระดับประเทศและมาตรฐานสากล โดยในปี 2564 จังหวัดสุโขทัย สนับสนุนส่งเสริมตำบลเมืองเก่าสุโขทัย ได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก (2021 Green Destinations Top 100) และในปี 2566 จังหวัดสุโขทัยยังคงดำเนินการส่งเสริมและผลักดันให้ตำบลเมืองเก่าสุโขทัย เข้าสู่การประกวดรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก เป็นปีที่ 2 เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ภายในจังหวัดสุโขทัย
ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ
ด้าน ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า จัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และงานมหกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน ประจำปี 2566 เป็นการดำเนินงานตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ และแนวทางสำหรับการบูรณาการเพื่อจัดการการท่องเที่ยว การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนในพื้นที่พิเศษ และเป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดคุณภาพสูง ที่จะช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและยกระดับความร่วมมือสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชุมชนในพื้นที่ เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจและเจรจาทางเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวสู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ
ซึ่งที่ผ่านมา อพท. มีการผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุน ให้จังหวัดสุโขทัย ได้รับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ และเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ ของยูเนสโก ซึ่งการพัฒนาจนได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลกอย่างยูเนสโก จนเป็นที่มาของการต่อยอดทางการตลาด และการจัด กิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ในปัจจุบัน
ล่าสุดทาง อพท. อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) โดยแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ผู้ซื้อกับผู้ขายได้ติดต่อกันโดยตรง และในแพลตฟอร์มนี้จะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และสุดท้ายนำไปสู่การหมุนเวียนแลกเปลี่ยนความรู้ และความยั่งยืนที่มีการบริหารจัดการที่ดี
ในส่วนพันเอก นาวิน ปรีชาพณิชยกุล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 กล่าวว่า อพท.4 ได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อยกระดับงานมหกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีทั้งการนำเสนอชุมชนท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยวในกลุ่มชุมชนเป้าหมาย 11 ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ