วันที่ 10 พ.ค.66 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวน
คดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ได้มอบหมายให้ นายวิโรจน์ ทูคำมี ผู้อำนวยการส่วนคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ2 เดินทางไปส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 53/2564 พร้อมนำตัวผู้ต้องหารวม 17 ราย และเอกสารรวม 24 แฟ้ม 8,018 แผ่น ให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด คดีนี้สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับการร้องขอให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการจัดซื้อ จัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 5 แห่ง พร้อมงานพิเศษอื่น ๆ ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ประกอบด้วย 1.อาคารที่ทำการไปรษณีย์จอมพระ
จังหวัดสุรินทร์ 2.อาคารที่ทำการไปรษณีย์สังขะ จังหวัดสุรินทร์ 3.อาคารที่ทำการไปรษณีย์พิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี 4.อาคารที่ทำการไปรษณีย์สำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ และ 5.อาคารที่ทำการไปรษณีย์พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ว่าอาจมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (วงเงินงบประมาณรวม 67,709,000 บาท) ซึ่งเชื่อว่ามีกลุ่มบุคคลเข้าถึงข้อมูลผู้ซื้อเอกสารหรือผู้ดาวน์โหลดเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลราคาที่เสนอของผู้เข้าร่วมประกวดราคาในระบบจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของกรมบัญชีกลาง มาใช้ในการ “ฮั้วประมูล” เพื่อกระทำความผิดในการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมของภาครัฐ
จากการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ มีพยานหลักฐานเชื่อว่ากลุ่มบุคคลและนิติบุคคลที่เข้าซื้อเอกสารประกวดราคาและยื่นเสนอราคาในโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์พนมไพร พร้อมงานพิเศษอื่นๆ ที่ตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด มีพฤติการณ์การกระทำความผิดที่เป็นการร่วมกันตกลงสมยอมราคา(ฮั้ว) เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐาน “ตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ ในการเสนอราคาเรียกรับ หรือยอมจะรับเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อดำเนินการใดๆ อันเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 5 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91
กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐตามกรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ
และประชาชน พร้อมทุ่มเททรัพยากร และบูรณาการการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ สามารถแจ้งได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือทางสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทรฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ