บมจ.เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ (NL) ผู้ประกอบกิจการให้บริการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างงานอาคารทุกประเภท รวมทั้งการติดตั้งงานระบบวิศวกรรมต่างๆ เดินหน้ายื่นไฟลิ่ง เสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 130,000,000 หุ้น พร้อมระดมทุนไปใช้ในการซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจภายในปี 67 โดยมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ หรือ NL เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO จำนวน 130,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 1.00 บาท/หุ้น คิดเป็น 26% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด เดินหน้าเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) / บริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS)
โดย NL ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.24 ด้วยทุนจดทะเบียน 500,000 บาท โดยนายภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา เพื่อประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างครบวงจร (One-Stop Service) รับงานจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐประเภทอื่น และหน่วยงานเอกชน ในฐานะผู้รับเหมาโดยตรง (Main Contractor) ด้วยวิธีประกวดราคา หรือเจรจาต่อรองกับผู้ว่าจ้างโดยตรง บริษัทฯ กำหนดให้หน่วยงานก่อสร้างและส่วนงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 มาปฏิบัติใช้เป็นหลัก เน้นประสิทธิภาพ คุณภาพ ความปลอดภัย รวมถึงการดำเนินงานโครงการตามระยะเวลาที่กำหนดและภายในวงเงินงบประมาณ บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) มาใช้ในการออกแบบแต่ละขั้นตอนของการก่อสร้าง ทำให้การวิเคราะห์ การควบคุมงานออกแบบ การก่อสร้างเป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้บริษัทมีโรงงานในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วยโรงงานสำหรับตัดและดัดเหล็กเส้น และโรงงานสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้งานตกแต่งภายในอาคารต่างๆ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีอาคารโกดังเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการจัดเก็บเหล็กเส้นซึ่งสามารถรองรับการจัดเก็บวัตถุดิบในกรณีที่ราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นได้ บริษัทฯ ให้บริการรับเหมาก่อสร้างแบ่งตามลักษณะงาน 5 ประเภท ได้แก่ 1.สถานพยาบาล : อาคารที่ใช้ประกอบการให้บริการทางการแพทย์หรือที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ และอาคารบริการทางการแพทย์ เป็นต้น โดยโครงสร้างอาคารและระบบประกอบอาคารมีความพิเศษเป็นไปตามกฎระเบียบจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น ความหนาและวัสดุก่อสร้างของผนังห้องฉายรังสี ระบบควบคุมความชื้นสำหรับห้องเก็บยาและเวชภัณฑ์ และระบบแก๊สทางการแพทย์ เป็นต้น 2.อาคารสำนักงานและการพาณิชย์ : อาคารสำนักงานและเพื่อการพาณิชย์ เป็นอาคารที่ใช้เป็นพื้นที่ทำงานหรือเป็นพื้นที่เช่าสำหรับร้านค้า เช่น อาคารสำนักงาน สถานศึกษา และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
3.อาคารพักอาศัย : อาคารสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวร เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรม อพาร์ตเมนท์ หอพัก และบ้าน เป็นต้น 4.อาคารพิเศษ : อาคารที่มีการใช้งานเฉพาะวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจมีความซับซ้อนในการก่อสร้างหรือประโยชน์ใช้สอยเฉพาะเจาะจง เช่น พิพิธภัณฑ์ หอประชุม หอสมุด และทัณฑสถาน เป็นต้น 5.งานก่อสร้างอื่นๆ : งานก่อสร้างที่มีจุดประสงค์แตกต่างไปจากประเภทงานโครงการประเภทอื่น เช่น โรงงาน คลังสินค้า ถนน เขื่อน เป็นต้น
นายศรันย์ โรจน์เลิศจรรยา กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ หรือ NL กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักลงทุนได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความสำเร็จของบริษัทด้วยการเพิ่มศักยภาพขององค์กร เดินหน้างานธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างครบวงจรแบบ One-Stop Service ยกระดับงานก่อสร้างที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญของ NL โดยมีวัตถุประสงค์ของการระดมทุนเพื่อนำเงินที่ได้ ไปใช้เพื่อเป็นเงินทุนในการซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจภายในปี 67 รองรับการขยายตัวของธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ขณะที่ด้านผลการดำเนินงาน ในปี 2563–2565 บริษัทมีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างเท่ากับ 1,690.75 ล้านบาท 1,384.79 ล้านบาท และ 1,218.79 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้ที่ลดลงระหว่างปี 2563–2565 สาเหตุหลักมาจากที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนชะลอแผนการเปิดประมูลและการลงทุนก่อสร้างอาคาร จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และบริษัทฯ พิจารณาเข้าประมูลและเสนอราคาเฉพาะโครงการที่คาดว่าจะส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์และกำไรจากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง และแม้ว่ารายได้จากการรับเหมาก่อสร้างจะลดลง บริษัทยังคงบริหารต้นทุนจากการรับเหมาก่อสร้างได้ดี รวมถึงการได้รับค่า K(ดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงมูลค่างาน) จากการดำเนินงานก่อสร้าง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 50.90 ล้านบาท 57.33 ล้านบาท และ 57.56 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 3.01 ร้อยละ 4.14 และร้อยละ 4.72 ตามลำดับ นอกจากนี้บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจของบริษัทฯ ภายหลังการหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่างๆทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับบริษัท