กรมชลฯ เดินหน้าโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและเกษตรแบบยั่งยืน  

วันที่ 10 พ.ค.66 ที่ห้องประชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน จังหวัดพิษณุโลก ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายธเนศร์ สมบูรณ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ลงพื้นที่ประชุมติดตามการดำเนินโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและเกษตรแบบยั่งยืน โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ  นายวรพจน์ เพชรนรชาติ  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก  นายกุลธร รัตนเสรี  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน และผู้เกี่ยวข้องร่วมบรรยายสรุปการดำเนินงาน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP)   และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)  ที่ได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF)  เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ โดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน ในยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความแข็งแรงให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

โดยมีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน (จังหวัดพิษณุโลก ,จังหวัดสุโขทัย,จังหวัดอุตรดิตถ์) พื้นที่รับประโยชน์กว่า  125,000 ไร่   เป็นพื้นที่นำร่องในการต่อยอดพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่นๆ ภายใต้ 3 กิจกรรมหลักที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ OUTPUT1 ระบบบริหารข้อมูลในการพยากรณ์ น้ำฝน น้ำท่า แผนการเพาะปลูก OUTPUT 2 ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ผสมผสานมาตรการสิ่งก่อสร้างและมาตรการเชิงนิเวศ และ OUTPUT 3 เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของเกษตร ส่งเสริมด้านการตลาด ขยายแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์  เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป