เมื่อวันที่ 10 พ.ค.66 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า ตามที่ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปทำนอง ว่า "รัฐบาลเสียงข้างน้อยต่อไปจะกลายเป็นเสียงข้างมากเอง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าจะเกิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยอาศัยเสียงของวุฒิสภา แล้วค่อยมารวบรวมเสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป นั้น"
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิออกเสียงลงมติให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจำนวนวุฒิสมาชิกที่มีเสียงรวมกันถึง 250 เสียง จะเป็นเสียงชี้ขาดให้กับบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การออกเสียงลงมติดังกล่าวหากขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองและอาจเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ได้
การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอรายชื่อผู้ที่ประสงค์จะให้เป็นนายกรัฐมนตรี เจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการได้บุคคลจากพรรคการเมืองใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงพิจารณาได้จากจำนวนของผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นได้มาจากการเลือกตั้ง
สมาชิกวุฒิสภาจึงควรให้ความเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ด้วยการลงมติให้ความเห็นชอบกับผู้ที่พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากได้เป็นผู้เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นสำนึกที่ดีงามตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอเรียนว่า แม้การออกเสียงลงมติให้ความเห็นชอบกับบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะถือเป็นเอกสิทธิ์ของวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงกฎหมายที่เป็นเครื่องวัดการกระทำของคนเท่านั้น สำนึกที่ดีงามต่างหากที่เป็นเครื่องวัดถึงความเป็นคน ความชอบด้วยกฎหมายแต่ขัดต่อสำนึกที่ดีงาม จึงมิได้บ่งบอกว่าเป็นการกระทำที่เหมาะสมกับความเป็นคน