นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในฝั่งตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันนี้ รวมถึงการเจรจาขยายเพดานนี้ (US Debt Ceiling) ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการขายหุ้นบางส่วนที่รายงานคาดการณ์ผลประกอบการที่น่าผิดหวัง อาทิ บริษัท Paypal -12.7% รวมถึง บริษัท Skyworks -5.2% ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพให้กับผลิตภัณฑ์ของ Apple
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.33% กดดันโดยรายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนบางส่วนที่ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ ยอดการนำเข้า (Imports) ของจีนที่หดตัว -7.9%y/y แย่กว่าคาด ก็สร้างความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมจากยุโรป กดดันให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ต่างปรับตัวลดลง Kering -2.7%, Hermes -1.1% ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ที่ย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้เงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 101.6 จุด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังขาดปัจจัยหนุนที่จะทำให้แข็งค่าขึ้นชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ในระยะนี้ ยังคงเป็นความกังวลการเจรจาขยายเพดานหนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาพรวมตลาดการเงินที่เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น กอปรกับผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลต่อประเด็นการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติม ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2,044 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่าผู้เล่นบางส่วนอาจใช้จังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวในการทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจยังไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน อย่างที่ตลาดและเฟดคาดหวัง (CPI +0.4%m/m, Core CPI +0.3%m/m) ทำให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อาจยังคงอยู่ในระดับสูงราว 5.00% และ 5.50% ตามลำดับ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจเพิ่มโอกาสที่เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้บ้าง แต่เรามองว่า เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อ (Higher for Longer) เนื่อจากแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มได้รับผลกระทบและชะลอลงจากภาวะการปล่อยสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้น
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการเจรจาขยายเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับผู้นำ ฝ่ายพรรครีพับลิกัน และสมาชิกสภาคองเกรสบางส่วน เพื่อประเมินความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ หากการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปในการขยายเพดานหนี้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด แต่โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นใกล้โซน 33.70 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง
ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบกว้างได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ (เวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งเราประเมินว่า หากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอลงชัดเจนหรือออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับสมมติฐานใหม่ ว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ได้นานกว่าคาด ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง (แต่อาจยังติดโซนแนวต้านแถว 101.8-102 จุด สำหรับ ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY)
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินบาท เรามองว่า ในช่วงระหว่างวันก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจจะยังคงเป็นฝั่งซื้อสุทธิบอนด์ ขณะที่ฝั่งหุ้น นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบเข้าซื้อ จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก จนหลุดโซนแนวรับในกรอบสัปดาห์ที่เราประเมินไว้แถว 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจาก ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางส่วนก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ อีกทั้งในช่วงนี้ก็ยังมี โฟลว์จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติอยู่
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.90 บาท/ดอลลาร์