แพทย์จุฬาฯ ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย เผยผลวิจัยชาสมุนไพรตำรับ “วังน้ำเย็น” ช่วยกระตุ้นน้ำนมในคุณแม่หลังคลอด โดยเฉพาะคุณแม่ผ่าคลอด แก้ปัญหาน้ำนมน้อย เห็นผลเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน เล็งต่อยอดในเชิงพาณิชย์และส่งออก 

ปัจจุบันคุณแม่ยุคใหม่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น เพราะนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูก อาทิ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินที่ร่างกายลูกต้องการ และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกด้วย กระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็มีโครงการรณรงค์และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม

แม้จะอยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ปัญหาของคุณแม่ยุคใหม่ก็คือน้ำนมน้อย หรือน้ำนมไม่ไหล ซึ่งปัญหานี้มักเกิดกับคุณแม่ผ่าคลอดมากกว่าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ โดยมีเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ลูกได้ดูดนมแม่ช้าเพราะแม่หรือลูกป่วย ทำให้ต้องแยกกันก่อนในระยะแรก หรือลูกดูดนมไม่ถูกวิธี หรือดูดไม่บ่อยซึ่งส่งผลทำให้แม่มีน้ำนมน้อย

รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัยชาสมุนไพรไทยตำรับ “วังน้ำเย็น” หนึ่งในโครงการวิจัยภายใต้ข้อตกลงระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อพัฒนางานวิจัยสมุนไพรไทยให้เป็นระบบ และสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ได้จริง สูตรชาสมุนไพรตำรับ “วังน้ำเย็น” เสริมน้ำนมคุณแม่หลังคลอดนี้ เกิดจากการค้นคว้าของเภสัชกรพินิต ชินสร้อย ซึ่งได้รวบรวมหลักการใช้สมุนไพรตำราแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ และเทียบความปลอดภัยกับการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วคัดสรรออกมาเป็นตำรับสมุนไพร 5 ตัว ประกอบด้วย มะตูม ฝาง ขิง ชะเอมเทศ เถาวัลย์เปรียง โดยตั้งชื่อชาตำรับนี้ว่า “วังน้ำเย็น” เพื่อเป็นเกียรติแก่โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ที่เภสัชกรพินิตประจำอยู่ ณ ขณะนั้น

สมุนไพรตำรับนี้มุ่งดูแลคุณแม่หลังคลอด ซึ่งตามหลักแพทย์แผนไทยแล้ว คุณแม่หลังคลอดมักจะมีอาการอ่อนเพลีย เสียเลือดมาก ปวดกล้ามเนื้อ น้ำนมน้อย และวิงเวียน แพทย์แผนไทยจึงมักเลือกใช้สมุนไพรทั้ง 5 ตัวนี้ ที่มีรสยา และสรรพคุณในการรักษาตามอาการหลังคลอด ดังนี้ 1.อาการ อ่อนเพลีย ใช้รสยาหวาน เผ็ด ร้อน โดยใช้สมุนไพร ขิง ชะเอมเทศ มะตูม 2.อาการ เสียเลือดมาก ใช้รสยาจืดเย็น โดยใช้ ฝาง 3.อาการ ปวดกล้ามเนื้อ ใช้รสยามัน โดยใชสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง 4.น้ำนมน้อย ใช้รสยาหวาน เผ็ด ร้อน โดยใช้ ขิง มะตูม 5.อาการวิงเวียน ใช้รสยา เผ็ด ร้อน โดยใช้ขิง ซึ่งนำสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดนี้มาทำเป็นชา แล้วชงให้คุณแม่หลังคลอดในโรงพยาบาลวังน้ำเย็นทาน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่าชาสมุนไพรตำรับนี้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานและยังช่วยบรรเทาและรักษาอาการอื่น ๆ ของแม่หลังคลอดได้อีกด้วย

ทั้งนี้ยังได้พัฒนต่อยอดวิจัยเชิงทดลองเพื่อทดสอบและเทียบประสิทธิภาพการเพิ่มหรือกระตุ้นน้ำนมแม่หลังคลอด ระหว่างชาสมุนไพรไทยตำรับ “วังน้ำเย็น” และยาแพทย์แผนปัจจุบัน ของคุณแม่ผ่าคลอดและพักฟื้นหลังคลอดที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน ปี 2560 จำนวน 120 คน ภายใต้การดูแลของ นพ.กุลชาติ แซ่จึง สูตินรีแพทย์ฝึกที่โรงพยาบาลในเวลานั้น ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าน้ำชาสมุนไพรสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ทั้ง 3 ช่วงเวลา คุณแม่ที่ได้รับชาสมุนไพรมีปริมาณน้ำนมเยอะกว่ากลุ่มอื่น ตั้งแต่หลังผ่าคลอด 24 ชั่วโมง และมีปริมาณน้ำนมพอ ๆ กันกับคุณแม่ที่ได้รับยาแผนปัจจุบันหลังผ่าคลอด 48 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง และดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทานทั้งน้ำชาและยาแผนปัจจุบัน ชี้ชัดถึงประสิทธิภาพของสมุนไพรไทยในการกระตุ้นน้ำนมคุณแม่หลังคลอด ที่ไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังวางแผนจะต่อยอดชาสมุนไพรตำรับนี้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “วังน้ำเย็น” เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก

“หากเราต้องการให้สมุนไพรไทยไปต่อได้ เราไม่ควรหยุดอยู่แค่งานวิจัยพิสูจน์สารทดสอบฤทธิ์ของสมุนไพร แต่ควรมีการศึกษาทดสอบวิจัยต่อในมนุษย์เพื่อยืนยันว่าสมุนไพรไทยมีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง ซึ่งงานนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย หลายศาสตร์ ทั้งเภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ตลาดสมุนไพรไทยถึงจะเติบโตและเข้าถึงตลาดโลกได้”

สำหรับคนไทย รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวส่งท้ายว่า “ทีมวิจัยไม่ได้ปกปิดสูตรว่าชาตำรับนี้มีสมุนไพรตัวใดบ้าง เพราะจริง ๆ แล้ว เราอยากให้คนไทยรู้จักของดีในประเทศ สมุนไพรเหล่านี้ เราปลูกและทำทานเองได้ในครัวเรือน”บริษัทใดสนใจสมุนไพรตำรับชาวังน้ำเย็น สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีเมล [email protected]