วันที่ 9 พ.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 36,719 คน ตายเพิ่ม 168 คน รวมแล้วติดไป 687,868,572 คน เสียชีวิตรวม 6,871,379 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย โรมาเนีย และเวียดนาม

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.3 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 91.07

...อัพเดต XBB.1.16.x

ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) พบว่ามีการตรวจพบแล้วใน 49 ประเทศทั่วโลก (ภาพที่ 1)

...สายพันธุ์ที่ระบาดในโตเกียว

ข้อมูลจาก Tokyo Metropolitan Government Disaster Prevention Information เผยแพร่เมื่อ 8 พฤษภาคม 2566

พบว่า สัดส่วนของ Omicron สายพันธุ์ย่อย ที่ระบาดอยู่นั้น กว่าสามในสี่ ยังคงเป็น XBB.x

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า XBB.1.16 นั้นตรวจพบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบราว 14.3% ทั้งๆ ที่สัปดาห์ก่อนหน้านั้นยังไม่พบ (ภาพที่ 2)

...สำหรับไทยเรา

ข้อมูลรายสัปดาห์ล่าสุด 30 เมษายน-6 พฤษภาคม 2566

มีจำนวนผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,699 คน เสียชีวิต 10 คน

มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 219 คน (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 39.5%) และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 113 คน (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 43%) (ภาพที่ 3)

...คาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน อย่างน้อย 12,136-16,856 คน

...อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าสนใจและควรติดตามไปควบคู่กันคือ ข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีในช่วงสัปดาห์เดียวกัน ชี้ให้เห็นว่า

มีจำนวนผู้ป่วยเข้านิยามโรคโควิด-19 จำนวน 7,544 คน (ภาพที่ 4)

มีผู้ป่วยปอดอักเสบรายใหม่ 9 คน และผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจรายใหม่ 11 คน

และมีคนเสียชีวิต 2 คน (คิดเป็น 1/5 ของทั้งประเทศ)

ข้อมูลจากระดับจังหวัดนี้ เพียงแค่จังหวัดเดียว มีประโยชน์มาก ช่วยสะท้อนสถานการณ์การระบาดให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะมีแนวโน้มที่จำนวนการติดเชื้อจริง และจำนวนผู้ป่วยจริงอาจสูงกว่าคาดการณ์และที่เห็นในระบบรายงานประจำสัปดาห์

...ด้วยสถานการณ์ระบาดตอนนี้ ยังคงมีการติดเชื้อกันมากรายรอบตัว

การติดเชื้อแต่ละครั้ง ย่อมเสี่ยงที่จะทำให้ป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และมีภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้ด้วย

ควรใช้ชีวิตประจำวัน โดยฝึกตนเองให้หมั่นสังเกต ประเมินตนเอง ลูกหลาน คนในครอบครัว คนในที่ทำงาน หรือคนรอบข้างที่รู้จักมักจี่ หากมีอาการไม่สบาย ก็แนะนำให้ไปตรวจรักษาให้เร็ว และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อในที่นั้นๆ เพื่อช่วยตัดวงจรการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

ควรปรับวิถีการใช้ชีวิต มีสติ ไม่ประมาท ลดพฤติกรรมหรือกิจกรรมเสี่ยง เลี่ยงสถานที่เสี่ยง

การใส่หน้ากากป้องกันตัวเวลาใช้ชีวิตนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก