หอการค้าไทยประเมินใช้จ่ายเปิดเทอมใหม่กว่า 5.7 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 14 ปีนับตั้งแต่การทำผลสำรวจมาเมื่อปี 53 เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับปี 62 เผยค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเด็กเข้าใหม่-เครื่องแบบนักเรียนสูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจโพลประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมจากกลุ่มตัวอย่าง 1,230 ตัวอย่างทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มีบุตร 1-2 คน โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเล่าเรียนต้อบุตร 1 คน มีค่าเทอมเฉลี่ย 9,500 บาท ค่าบำรุงโรงเรียนเฉลี่ย 2,300 บาท และค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียนที่ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายยังเฉลี่ยเท่ากับปีที่แล้ว ส่วนค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเด็กเข้าใหม่มองว่าสูงขึ้น รวมไปถึงเครื่องแบบนักเรียนบางอย่างเช่น รองเท้า และถุงเท้า ปีนี้ มีการปรับราคาขึ้น โดยค่าใช้จ่ายจะเฉลี่ย 19,500 บาทต่อบุตร 1 คน แม้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 63% จะบอกว่ามีเงินเพียงพอกับการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม แต่ที่เหลืออีก 36.5% นั้นตอบว่าเงินไม่เพียงพอ ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่ต่ำสุดในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2559

ทั้งนี้ส่งผลให้มีเม็ดเงินการใช้จ่ายรวมทั่วประเทศกว่า 57,885 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 14 ปีนับตั้งแต่การทำผลสำรวจมาเมื่อปี 2553 เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับปี 2562  ส่วนความกังวลต่อปัญหาทางการศึกษาคือการเรียนออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็กเล็ก ปัญหาของหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และจำนวนครูที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ

ขณะที่ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองด้านการศึกษานั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการโครงการอาหารฟรีให้กับเด็กนักเรียน ยกเลิกระบบแป๊ะเจี๊ยะ ส่งเสริมโรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น และนโยบายเรียนฟรีจนจบปริญญาตรีทั้งนี้ โดยภาพรวมการเปิดเทอมปีนี้ ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งมีมูลค่าใช้จ่ายสูงสุดนับแต่สำรวจมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 และผู้ปกครองพร้อมที่จะใช้จ่ายมากขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นในลักษณะเฉพาะกลุ่ม หรือ ฟื้นตัวแบบ K Shape  และระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะคนหลายกลุ่มยังได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูง ยังไม่พร้อมใช้จ่าย จึงย้ำว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้วแต่ยังเปราะบางเป็นต้น