วันที่ 7 พ.ค.66 ร.ต.ต.สัณฐิติ ธรรมใจ หน.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า เนื่องด้วยขณะนี้ทางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ โดยนายณรงค์ รักร้อย ผวจ.สมุทรสาคร ผู้อำนวยการจังหวัดฯ ได้มีประกาศเพื่อการแจ้งเตือนเฝ้าระวังผลกระทบต่างๆทางสภาพอากาศ และจากประกาศทาง กรมอุตุนิยมวิทยา ว่าด้วย เรื่อง..พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 1 /130 -2566 อันจะมีผลกระทบตั้งแตในช่วงวันที่ 8 -10 พ.ค. 2566 ว่า ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น มีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน จึงให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง, ใต้ต้นไม้ใหญ่, สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง, ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ขณะที่ในส่วนเกษตรกร ควรเตรียมการป้องกันและระวัง ความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตด้านการเกษตร และอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
“อันสืบเนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้นในขณะที่ประเทศไทยตอนบนที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
อนึ่ง.หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุม ประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 10 -11 พ... 66 ซึ่งจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี ฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 8 -12 พ.ค. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน โดยคาดว่า จะเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนกลาง ทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้มีกำลังแรง และภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเสี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ จ.สมุทรสาคร นับว่าเป็นพื้นที่เฝ้าระวังด้วย จากสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโซกอย่างแรง ระหว่าง 8 -10 พ.ค.66 ดังนั้นกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สมุทรสาคร ที่ได้พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรับมือต่อปัญหาก็เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวต่อไป