เมื่อวันที่ 7 พ.ค.66 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมาโดยตลอด ใน 10 จังหวัด คือ ตาก มุกดาหาร ตราด สระแก้ว สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงรายนครพนม และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เร่งยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาตามแนวทางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากทั้ง10 จังหวัดนั้นมีภูมิประเทศที่มีประเทศเพื่อนบ้านรายล้อมรอบ ซึ่งเป็น “จุดแข็ง” ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการดำเนินงานมีความคืบหน้าและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โดยข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565 ระบุว่าตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแล้วราว 3.7 หมื่นล้านบาท ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความก้าวหน้า 89 % ส่วนที่แล้วเสร็จ เช่น ทางหลวงหมายเลข 3 ตราด-หาดเล็ก (เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด) ทางหลวงหมายเลข 211 แยก 2 อำเภอศรีเชียงใหม่ (เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย) อีกทั้งมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานในทุกจังหวัด และตั้งแต่ ตุลาคม2560 – มิถุนายน2565 ได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทุกสัญชาติ จำนวน 5.08 แสนคน

ทั้งนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุเพื่อนำร่องการลงทุน ขณะนี้มีเอกชนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ได้เช่าพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และสงขลา ส่วนโครงการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านแรงงานต่างด้าว สำหรับออกใบอนุญาตการทำงานและเพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวบริเวณชายแดนที่เข้ามาทำงานในลักษณะ ไป-กลับ และตามฤดูกาลนั้น มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน จำนวน 2.7 หมื่นคน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จึงขอเชิญชวนนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่กำลังมองหาทำเลธุรกิจ ที่จะสร้างโอกาสในการแข่งขัน เลือกลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่มีไม่เพียงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและระเบียบทางการค้าที่ยืดหยุ่นกว่าพื้นที่อื่นๆในประเทศ แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนมาช่วยดูแลในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งยังสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะทำให้การลงทุนในพื้นที่นี้คุ้มค่า 

“พล.อ.ประยุทธ์มุ่งสร้างโอกาสให้ธุรกิจ และคนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนเพื่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน”รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ