วันที่ 6 พ.ค.66 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศฉบับที่ 1 เรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 8-10 พฤษภาคม 2566 ความว่า...

ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค.2566 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย 

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้นในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด 

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 10-11 พ.ค. 66 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง

ในช่วงวันที่ 8-12 พ.ค. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน โดยคาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนกลาง ทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรง และภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว ทำให้มีฝนน้อยแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนทะเลอันดามัน คลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนซึ่งมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน

ฝุ่นละอองในระยะนี้ : ประเทศไทยมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปานกลาง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการระบายอากาศดี

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง ร้อยละ 10 ของพื้นที่  
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส 
อุณหภูมิสูงสุด 39-42 องศาเซลเซียส 
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง ร้อยละ 10 ของพื้นที่  
ส่วนมากบริเวณจังหวัดชัยภูมิ และนครราชสีมา  
อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส 
อุณหภูมิสูงสุด 40-43 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง ร้อยละ 10 ของพื้นที่  
ส่วนมากบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และอุทัยธานี 
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-41 องศาเซลเซียส 
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง ร้อยละ 10 ของพื้นที่  
ส่วนมากบริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 26-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

อากาศร้อนในตอนกลางวันทางตอนบนของภาค โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ 
ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส 
อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ บริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส 
อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส 
ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. 
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส 
อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส 
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.