สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

การลงยาในเหรียญที่ระลึก เหรียญพระพุทธรูป และเหรียญพระเครื่อง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มักทำเพื่อให้เป็นพิเศษเฉพาะ เช่น แจกกรรมการ “พระเครื่อง” เป็นพระพุทธรูปที่ปรับเปลี่ยนขนาดให้เล็กลง เพื่อความสะดวกในการพกพาติดตัว โดยนับถือว่ามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคุ้มครองป้องกันอันตรายและเตือนสติอยู่กับตนตลอดเวลา หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเจตนาของผู้สร้างเดิม เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ถาวร โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งถือตามคติลังกาว่า พระพุทธศาสนาจะยั่งยืนอยู่ได้เพียง 5,000 ปี จึงนิยมจัดสร้างพระเครื่องที่สลักคาถาเย ธมฺมาฯ อันเป็นยอดแห่งพระธรรมไว้เบื้องหลัง แล้วบรรจุไว้ในสถูปหรือเจดีย์ โดยหวังว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมสูญไปแล้ว ถ้ามีผู้ค้นพบพระเครื่องดังกล่าวก็จะหันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง

หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ รุ่นคุณพระเทพวิทยาคม

การสร้างพระเครื่องไว้เพื่อสืบพระพุทธศาสนาของไทยนั้น มีมาแต่ครั้งสมัยทวารวดี ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ต่อมาโบราณาจารย์ผู้ชาญฉลาดได้ประดิษฐ์คิดสร้างพระเครื่องด้วยรูปแบบต่างๆ และบรรจุพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ตลอดจนพระปริตรและหัวใจพระพุทธมนต์อีกมากมายหลายด้าน และนับเป็นความเชื่อถือที่พุทธศาสนิกชนทุกคนปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการจำลององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังกระจายไปสู่จำลองรูปเหมือนพระเกจิคณาจารย์ผู้ทรงชื่อเสียงและเกียรติคุณ ด้วยความเคารพศรัทธาอีกด้วย

เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงพ่อรวย วัดตะโก อยุธยา

แรกเริ่มเดิมที “พระเครื่อง” จะสร้างจากดินดิบ (ดินที่ไม่ผ่านการเผา) และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนเป็น ดินเผา ดินเคลือบ (เช่น พระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคล) เนื้อผง เนื้อโลหะ และวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะในการจัดสร้างพระเครื่องประเภท “เหรียญ” ไม่ว่าจะเป็นเหรียญที่ระลึก เหรียญคณาจารย์ ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสยามประเทศรับอิทธิพลจากตะวันตก และเริ่มจัดทำเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธี และแพร่หลายไปยังการจัดสร้างเหรียญพระพุทธรูปและเหรียญคณาจารย์ในเวลาต่อมา

เหรียญเสมา 8 รอบ ปู่ทิม  วัดละหารไร่ ระยอง

การจัดสร้างเหรียญพระพุทธและเหรียญคณาจารย์นั้น มีการจัดสร้างขึ้นจากโลหะหลายชนิด เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง นาก ฯลฯ และต่อมาจึงได้มีการนำกระบวนการที่เรียกว่า "การลงยา" เข้ามาใช้ในการจัดสร้างเหรียญ โดยเริ่มจากเหรียญที่ระลึกในราชสำนักก่อน แล้วจึงค่อยแพร่หลายสู่ภายนอก ส่งผลให้เหรียญโลหะมีความงดงามด้วยสีสัน มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นมากยิ่งขึ้นกว่าการเป็นเหรียญโลหะเปลือยแต่อย่างเดียว

เหรียญพระไพรีพินาศเนื้อทองคำลงยา

"การลงยา" หมายถึง กระบวนการตกแต่งเครื่องโลหะ หรือเครื่องปั้น เครื่องเคลือบ โดยใช้น้ำยาเคลือบชนิดใสผสมกับสีอันได้จากสารประกอบของโลหะ และผ่านกระบวนการให้ความร้อนโดยการเป่าหรือการอบ ในบ้านเรานำโลหะที่หลอมละลายได้ เช่น แก้ว หยอดหรือถมลงในร่องโลหะที่ถูกแกะเป็นลวดลาย มีลักษณะคล้ายกับการถม ดังนั้นจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ถมปัด" หรือ "ลงยาสี"

เหรียญรวยพันล้าน หลวงพ่อรวย วัดตะโก อยุธยา

“การลงยาสี” นั้น เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลจากดินแดนตะวันออกกลาง และนำเข้ามาโดยช่างชาวอาหรับและชาวเปอร์เซีย การทำเครื่องถมและเครื่องลงยาสี ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยทรง ให้ทำเครื่องถม เครื่องถมปัด ถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และทรงให้ช่างประดิษฐ์เครื่องถมเป็นรูปไม้กางเขนส่งไปถวายองค์สมเด็จพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม นอกจากนี้ยังพบการทำเครื่องถมปัดหรือลงยาสีได้รับความนิยมมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ธนบุรี

โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชนิยมการทำเครื่องลงยาสีเฉพาะพระองค์ประเภทหนึ่ง โดยแกะโลหะเงิน จัดสร้างเป็นเครื่องราชูปโภค ในรูปเครื่องใช้ เครื่องถ้วยต่างๆ และถมสีฟ้าลงไปเรียกกันว่า "เครื่องลงยาราชาวดี" และการลงยารุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมลงยาสีในเหรียญที่ระลึก และเหรียญพระเครื่อง เรื่อยมาทั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหรียญที่ระลึกและพระเครื่องได้รับความนิยมลงยาสี นั้น เข้าใจว่าคงรับพระราชนิยมมาก่อนเป็นชั้นแรก โดยมีการจัดสร้างเหรียญที่ทำจากโลหะขึ้นก่อน จึงนำไปผ่านกระบวนการการลงยา ทำให้ภาพที่ปรากฏมีความงดงามด้วยเคลือบแก้ว มีสีสัน ส่งผลให้เหรียญที่ลงยามีลักษณะแตกต่างจากเหรียญปกติ แต่กระบวนการลงยานั้นจำเป็นต้องใช้ช่างที่ชำนาญการ เนื่องจากเป็นงานที่ละเอียด และมีหลายวิธี หลายชนิดด้วยกัน เช่น

-การถมปัด เป็นการลงยาสีในสยาม ที่นำเอาแก้วจากลูกปัดมาบดให้ละเอียดปนกับปรอท แล้วถมลงบนร่องหรือพื้นที่ต้องการ แล้วใช้ความร้อนไล่ปรอทออก แก้วลูกปัดก็จะแห้งแข็งเกาะติดตามร่องเป็นสีสันสวยงาม

-การลงยาแบบยุโรป ใช้วิธีทุบแผ่นโลหะให้บุบเป็นร่อง แล้วหยอดน้ำยาเคลือบใสผสมสีลงไป ก่อนนำไปอบให้ความร้อน แล้วนำมาขูดส่วนที่นูนสูงจากลายออกให้เห็นลายพื้น จากนั้นนำไปชุบทองเพื่อเน้นลวดลาย นิยมทำกันในแถบยุโรปกลาง

-การลงยาแบบไบเซนไทน์ เน้นการใช้เส้นทองหรือเส้นทองแดงลงลวดลายให้สวยงาม ก่อนหยอดน้ำยา วิธีนี้เผยแพร่เข้าไปที่จีนเรียก “การลงยาแบบกวางตุ้ง” เป็นวิธีการที่เรานำมาใช้ในการลงยาราชาวดีในรัชกาลที่ 1

-การลงยาของอาหรับและตะวันออกกลาง มักพบในการลงยาเครื่องปั้นดินเผา

-การลงยาจากญี่ปุ่น เรียก "คิรันเดะ"

-การลงยาของจีน เรียก "ฝาหัว" เป็นวิธีที่นำมาผลิตเครื่องเบญจรงค์ของไทย

การลงยาในเหรียญที่ระลึก เหรียญพระพุทธรูป และเหรียญพระเครื่อง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มักทำเพื่อให้เป็นพิเศษเฉพาะ เช่น แจกกรรมการ เนื่องจากวิธีการแบบโบราณทำยาก จึงมีการคิดทำโดยวิธีโรงงานขึ้นซึ่งก็ได้รับความนิยมเช่นกันครับผม