ประก่าศสัปดาห์หน้า กรมโรงงานอุตสาหกรรมคุมเข้มการใช้สารไซนาไนด์ ต่อไปผู้ซื้อต้องลงทะเบียนแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้กับร้านจำหน่าย พร้อมขอ สคบ.คุมขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จากนี้ไปไม่ควรหาซื้อง่ายๆ
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมฯได้หารือร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถึงแนวทางการควบคุมใช้สารไซยาไนด์ ให้ถึงกลุ่มผู้ใช้รายย่อยว่า นำไปทำอะไร เพิ่มเติมจากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดให้ร้านค้าปลีกรายใด ครอบครองสารเคมีอันตรายเกิน 100 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือนต้องรายงานมายังกรมฯ โดยต่อไปอาจกำหนดให้ผู้ที่ซื้อรายย่อยต้องลงทะเบียนการซื้อกับร้านค้าปลีกทุกราย ที่จำหน่ายสารโซเดียมไซยาไนด์ โพแทสเซียมไซยาไนด์ คล้ายกับซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ โดยให้ระบุว่า นำไปใช้เพื่ออะไร เช่น นำไปในร้านชุบเงินชุบทอง หรือใช้ในห้องแล็บ หากหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดจะประกาศเงื่อนไขการใช้สารไซยาไนด์ ภายในสัปดาห์หน้า
“ประเทศไทยไม่สามารถผลิตสารไซยาไนด์ต้องมีการนำเข้าเท่านั้นโดยขณะนี้มีผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ จำนวน 14 ราย หากมาตรการที่จะดูแลเพิ่มเติมผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วจะแจ้งให้ผู้นำเข้าทั้งหมดต่อไป โดยการกำหนดเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ที่ซื้อต่อจากผู้นำเข้าทุกราย ทั้งโรงงาน ร้านค้าปลีก ผู้ใช้รายย่อย ต้องปฏิบัติตามแนวทางใหม่ เรื่องการควบคุมดูแลการใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์”นายจุลพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้นำเข้า และผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกต้องด้วยเพราะปัจจุบันสารไซยาไนด์ มี 2 ประเภทที่ กรอ.ควบคุมอยู่คือ โซเดียมไซยาไนด์ และโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีไว้ใช้ในงานอุตสาหกรรมเช่น การสกัดแร่ การชุบโลหะ ชุบทอง เงิน หรือใช้ในห้องแล็บ ส่วนที่เป็นข่าวตอนนี้ เป็นการนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ได้หารือเบื้องต้นกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคแล้วว่า อาจจะขอความร่วมมือไม่ควรนำสารไซยาไนด์ ไปขายบนช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์แพลตฟอร์มต่างๆ เนื่องจากเป็นสารอันตราย ไม่ควรหาซื้อง่าย