รายงาน / ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ : “เป็นผู้หญิงสวยๆ ทำไมไปเป็นยักษ์ ?”

เป็นคำถามที่สองพี่น้องตระกูลน้อยปุก ต้องตอบเพื่อนๆ ญาติๆ มาตลอด 10 กว่าปีของการเล่นโขน  “แป้ง” สุปรีย์วรรณ น้อยปุก พี่สาว และ  “ป๊อบ” ถกนวรรณ น้อยปุก ผู้เป็นน้อง ทั้งคู่เข้าสู่วงการโขน นาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยตั้งแต่เด็ก ถึงจะเป็นหญิงบอบบาง สูงโปร่ง แต่ทั้งคู่กลับเลือกฝึกเป็นโขน “ยักษ์”

ป๊อบ-ถกนวรรณ น้องเล็ก เล่าว่า “จุดเริ่มต้นเริ่มเรียนละคร เรียนรำ มาตั้งแต่อายุ 7 - 8 ขวบ เวลาซ้อมก็จะซ้อมพร้อมกันกับเพื่อนที่เรียนโขน เด็กผู้ชายเขาก็จะเล่นโขน ซ้อมกันอย่างสนุกสนาน ในใจเรารู้สึกอย่างเล่นบ้าง หนูชอบบุคลิกของยักษ์ที่ชัดเจน เป็นยักษ์แล้วสง่างาม ดุดัน ออกท่าทางท้าทายสนุกกว่าที่หนูซ้อมรำ พอตอนอายุ 17 มีรุ่นพี่แนะนำว่าถ้าอยากเรียนโขนก็ลองมาเรียนที่สถาบันคึกฤทธิ์ดูซิ ก็เลยมาลองสมัคร ครั้งแรกครูถามว่าอยากเป็นอะไร ก็มีพระ นาง ลิง ยักษ์ ก็บอกครูอยากเป็นยักษ์ ครูมองลอดแว่นแล้วก็บอกว่า ไป ไปเป็น...ยักษ์ หนูเลยเป็นโขนยักษ์ผู้หญิงคนแรกๆ ของสถาบัน” เธอพูดพร้อมเปิดรอยยิ้มที่สว่างสดใส

ด้าน แป้ง-สุปรีย์วรรณ ผู้เป็นพี่เล่าถึงการเข้ามาของเธอว่า “ตัวแป้งเริ่มเล่นโขนจริงจังตอนอายุ 19 ปี ตอนแรกเห็นน้องสาวเล่น กลับบ้านก็ฝึกโขนไม่ยอมทำอย่างอื่น เฮ้ยเราก็ดูว่าเท่ดี ก็เลยอยากลองมาเรียนดูบ้าง ปรากฏว่าเรียนแล้วชอบมาก ก็เลยมุ่งมาเป็นตัวยักษ์ เพราะด้วยสรีระเราเองเป็นคนสูงด้วยคงเป็นลิงไม่ได้ เริ่มต้นเรียนช่วงแรกๆ ก็มีแว๊บๆ ไปเห็นตัวนางเขารำสวย ก็อยากกลับไปเล่นเป็นตัวนางเหมือนกัน(หัวเราะ) แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ท่ามันก็เปลี่ยนแล้ว จะกลับไปเป็นนางก็ดูไม่สวย แล้วเป็นยักษ์สนุกกว่าและเล่นมาตลอด”

“มีคนถามเยอะเหมือนกันว่าทำไมเป็นผู้หญิงถึงมาเล่นเป็นยักษ์ แป้งคิดว่าในบรรดาตัวละครโขนยักษ์มีความเท่ มีเสน่ห์ความสวยหลากหลายกว่าตัวละครอื่นๆ มาก เพียงความแข็งแรงของยักษ์ดูเหมาะกับผู้ชายมากกว่า แต่ผู้หญิงก็ทำได้ไม่แพ้ผู้ชาย ถึงแม้ว่าสรีระร่างกายของเราอาจจะสู้ผู้ชายไม่ได้ แต่เคล็ดลับคือเราต้องฝึกให้หนักกว่าผู้ชาย ยิ่งส่วนตัวแป้งชอบยักษ์อินทรชิต เขาเป็นยักษ์วัยรุ่นเกเร มีพละกำลังเยอะ ท่าทางของเขาก็จะออกแนวดุดัน คล่องแคล่ว รวดเร็ว กระฉับกระเฉง เราต้องฝีกให้ตัวเองเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่ายักษ์ตนอื่นๆ”

“ความยากของการฝึกหัดโขนยักษ์ที่เป็นผู้หญิงคือ เรื่องพละกำลังและสรีระที่แตกต่างจากโขนชาย ต้องเน้นฝึกกำลังขาและแขนให้มากกว่าผู้ชาย เพื่อแสดงฉากสำคัญๆ ได้ อย่างท่าการขึ้นลอยที่ยักษ์หญิงต้องเป็นฐานรับลอยจากตัวแสดงลิงที่เป็นผู้ชาย ทำให้โขนหญิงที่เป็นยักษ์ต้องผ่านด่านฝึกโหดมากมาย ครูจะฝึกทุกอย่างเหมือนผู้ชาย แรกๆ เจ็บมาก มีร้องบ้างเวลาครูดัดขาดัดแขน ด้วยความที่ต้องยืดร่างกาย กลับบ้านก็ปวดระบมทั้งตัว คือทุกอย่างมันต้องไม่เป็นปกติ มือต้องมีความอ่อนช้อย แขนต้องตึงตรงกับไหล่ ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ

เริ่มแรกครูจะฝึกด้วยการเต้นเสา (เป็นการเต้นยกเท้าขึ้นลงสลับกัน ในลักษณะย่อ แบะเหลี่ยมขา สมัยโบราณการฝึกท่านี้ พระ นาง ยักษ์ ลิง จะต้องมาหัดเต้นรวมกันโดยเต้นเกาะสะเอวต่อกันเป็นแถว หัวแถวจะทาบฝ่ามือทั้งสองลงที่เสาของศาลาฝึก) ที่ถือว่าเป็นหัวใจของการเรียนโขน ต่อด้วยท่าตบเข่า ถองสะเอว(นั่งพับเพียบใช้ข้อศอกขวากระทุ้งที่สะเอวด้านขวา เอียงศีรษะไปทางซ้าย สลับมากระทุ้งข้อศอกซ้ายที่สะเอวซ้าย เอียงศีรษะไปทางขวา) ถีบเหลี่ยม (การดัดส่วนขาให้ได้เหลี่ยม ได้ฉากและมั่นคง) เราก็ต้องมาใส่ความแข็งแรงด้วยการขยันซ้อมมากกว่าผู้ชาย

นอกจากท่ารำก็พยายามศึกษาว่ายักษ์ควรจะเป็นอย่างไร เวลาทำการแสดงโขนครูจะสอนให้เราเข้าถึงตัวละครที่เราได้รับ โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบทศกัณฑ์ เป็นยักษ์สง่างาม ดุดัน แต่เวลามีความรักเขาก็จะขี้เล่น ขี้งอน ค่อนข้างมีอารมณ์หลากหลาย ความยากคือเวลาเล่น คนดูจะไม่เห็นหน้าตาเราเพราะสวมหัวโขนอยู่ แต่ก็ต้องสื่ออารมณ์ของยักษ์ตนนี้ผ่านทางนิ้วมือ แขน ขา ออกมาให้ได้ ความภูมิใจที่สุดของการเป็นโขนยักษ์ คือได้มีโอกาสต่อท่าฉุยฉายทศกัณฑ์ลงสวน กับครูต้อย จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ ฉากทศกัณฑ์เกี้ยวนางสีดาใช้เวลาในการต่อท่ากับครูอยู่หลายปี ตอนนั้นครูต้อยยังสามารถถ่ายทอดท่ารำให้ได้ด้วยตัวเอง อันนี้คือเป็นที่สุดในชีวิตของโขนผู้หญิงสองพี่น้อง(ป๊อบและแป้ง) ที่ได้ต่อท่ากับครูต้อยโดยตรง” แป้ง-สุปรีย์วรรณ น้อยปุก เล่า

สำหรับผู้ที่สนใจจะเป็น ยักษ์ ลิง พระ นาง หรือขับร้อง เล่นดนตรีไทย โดยมีอายุตั้งแต่ 7 – 25 ปี สามารถติดตามข่าวสารการเรียนการสอนของศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพจ @kukritinstitute และอื่นๆ