ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

การเผชิญหน้าของ 2 ขั้วอำนาจกำลังส่อเค้าตึงเครียดและบานปลายออกไป จนหลายฝ่ายวิตกกังวลว่าอาจจะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้

ประเด็นแรกมีการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของรัสเซียไปติดตั้ง ที่เบลารุสประมาณ 60 ชุด เพื่อตอบโต้กับท่าทีแข็งกร้าวของนาโต ทว่าฝ่ายนาโตนั้นสหรัฐฯได้ไปติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรปตะวันตกมาหลายสิบปีแล้ว คือที่เนเธอร์แลนด์ 20 ชุด เยอรมนี 20 ชุด อิตาลี 40 ชุด และที่ตุรเคีย อีก 60 ชุด ที่อยู่ในฐานทัพสหรัฐฯที่นั่น

ยังมีเพิ่มเติมคือ สหรัฐฯกำลังมีแผนจะไปติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งทางยุทธวิธีและICBM ที่เกาหลีใต้ เพื่อตอบโต้เกาหลีเหนือ และจ่อคอหอยจีนกับรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็มีแผนตอบโต้ด้วยการเตรียมไปติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในประเทศแถบอเมริกาใต้ที่สหรัฐฯ ถือเป็นสนามหลังบ้าน

ยิ่งไปกว่านั้นทางการรัสเซียยังให้ข้อมูลประชาชนถึงแนวทางปฏิบัติตนหากเกิดสงครามนิวเคลียร์และสงครามเชื้อโรค เพราะเชื่อว่าสหรัฐฯมีแผนทำสงครามเชื้อโรค หลังจากพบห้องแล็บจำนวนมากในยูเครน ที่ร่วมกับสหรัฐฯพร้อมหลักฐาน และนำส่ง UN ให้สอบสวนแต่เรื่องเงียบ

ประเด็นที่สองในช่วง 1-2 ปี มานี้มีการซ้อมรบกันบ่อยมากในพื้นที่ละเอียดอ่อน เช่น สหรัฐฯและพันธมิตรในทะเลญี่ปุ่น และการฝึกคอบบร้าโกลด์ในไทย รัสเซียซ้อมรบในทะเลตะวันออกใกล้ญี่ปุ่น จีน ซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน และล่าสุดสหรัฐฯมีแผนจำลองยุทธในกรณีจีนบุกไต้หวัน

ส่วนภาคพื้นยุโรปก็มีแผนซ้อมรบภาคพื้นดิน 10 ประเทศ และการซ้อมรบทางอากาศโดยใช้น่านฟ้าเยอรมนีด้วยเครื่องบินรบกว่า 200 ลำ ในช่วงมิถุนายนนี้

ประเด็นที่สามที่ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย คือความตึงเครียดทางการทูต เช่น เยอรมนีขับนักการทูตรัสเซีย 200 นาย รัสเซียก็ตอบโต้แคนาดาก็กระทำเช่นกัน และมีการเลือกปฏิบัติต่อชาวรัสเซียที่ไปแคนาดา ซึ่งรัสเซียก็จะตอบโต้ ล่าสุดโปแลนด์ไปยึดโรงเรียนของสถานทูตรัสเซียที่ใช้เป็นที่ศึกษาของบุตรหลานเจ้าหน้าที่ ซึ่งรัสเซียอ้างว่าเป็นการขัดต่ออนุสัญญาเจนีวา และจะตอบโต้

ที่มองว่าเป็นสัญญาณอันตรายก็เพราะว่า คนเราถ้าไม่มีการพูดคุยเจรจากันตามปกติก็แสดงว่าจะต่อยตีกันแล้ว

ด้วยเหตุนี้เมื่อจีนนำเสนอโครงสร้างสันติภาพเพื่อยุติสงครามยูเครน อันเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งปะทุขึ้นมา ทั้งที่มีการกระทำและการวางแผนกันมานานนับสิบปี แผนสันติภาพจึงเป็นเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ส่วนจะลอดออกไปได้หรือไม่ต้องดูกันไป

นอกจากนี้ท่านโป๊ปฟรานซิสประมุขศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ก็ประกาศว่ามีแผนสันติภาพที่ยังไม่เปิดเผยโดยอยู่ในระหว่างดำเนินการ และช่วยเป็นตัวหลักในการขนย้ายเด็กชาวยูเครนหลายร้อยคนที่ประสบภัยสงครามและรัสเซียนำไปดูแล ให้กลับมายูเครน ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ยากนัก แต่เรื่องสันติภาพเป็นอีกเรื่อง และพึงเข้าใจว่าทั้งยูเครน และรัสเซียนับถือศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์ แต่เมี่อท่านอาสาช่วยดำเนินการทั้งเรื่องสันติภาพก็นับเป็นบุญกุศลแก่ชาวโลก

อย่างไรก็ตามจีนได้แต่งตั้งคณะทูตเพื่อเตรียมเดินทางไปเคียฟ และมอสโก โดยหัวหน้าคณะทูตคืออดีตทูตประจำมอสโก และปัจจุบันเป็นหัวหน้าทูตประจำยูโรเชีย ที่มีกลุ่มประเทศอย่างน้อย 8 ประเทศ ตอนนี้ก็เพียงแต่รอสัญญาณจากทั้ง 2 ฝ่าย

ประเด็นที่ต้องพิจารณา เป็นประการแรก คือใครเป็นคนโทรหาใครระหว่างเซเลนสกีกับสี จิ้นผิง เพราะมันบ่งบอกนัยสำคัญเบื้องต้น กล่าวคือถ้าประธานาธิบดีสี โทรหาก็แสดงว่าเซเลนสกี้ยังไม่กระตือรือร้นพอที่จะเจรจาหยุดยิง แต่ที่สี จิ้นผิงโทหาก็เพื่อตอบสนองที่เซเลนสกีออกข่าวว่าอยากเชิญสีมาเคียฟ เรื่องนี้ก็จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออกนั้นต่างกันมาก

กล่าวคือ ถ้าเราต้องการให้ใครช่วยเราต้องไปหาตามแบบตะวันออก แต่ตะวันตกมองว่าถ้าคุณจะช่วยเรา เราก็อยากให้คุณมาดูด้วยตาตนเอง

กลับมาพิจารณาว่าถ้านายเซเลนสกี เป็นฝ่ายโทรหาก่อน ซึ่งตามข่าวก็ยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ แสดงว่าเซเลนสกี กระตือรือร้นที่จะให้มีการเจรจาพูดคุย แต่ที่ทางเซเลนสกี้ออกข่าวไม่พูดเรื่องนี้กลับพูดเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งแน่นอนยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ BRI เส้นทางสายไหมของจีนอยู่แล้ว

ข้อพิจารณาต่อมา คือ เซเลนสกี้ต้องการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงครามจริง หรือเพียงต้องการประวิงเวลาเพื่อสะสมกำลัง และให้พันธมิตรได้เร่งผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์มาสนับสนุน เมื่อพร้อมก็คงล้มโต๊ะแล้วกลับไปรบใหม่ เพราะตอนนี้สหรัฐฯกำลังให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ส่งอาวุธแทนยุโรปและสหรัฐฯซึ่งอาจทำให้ยุติการเจรจากลางทาง รัสเซียคงไม่ยอม เพราะมีประสบการณ์มาแล้วจากข้อตกลงมินส์ที่ตกลงกันว่ายูเครนจะต้องเป็นกลาง ไม่ส่งกำลังไปข่มเหงรังแกคนยูเครน เชื้อสายรัสเซียในดอนบาส และต้องไม่ยกประเด็นไครเมียมาต่อรองอีก แต่ยูเครนก็เบี้ยวในที่สุดโดยนางแมร์เคิล เป็นผู้มาเปิดเผยว่าวางแผนแกงรัสเซีย

แต่ถ้าตั้งใจเจรจากันจริง มันก็ต้องเริ่มที่การหยุดยิงและยึดแนวรบปัจจุบันเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องมีผู้สังเกตการณ์ทั้ง 2 ด้านของแนวรบ และมีค่าใช้จ่ายจีนจะรับภาระไหม หรือจะโยนให้ UN ซึ่งก็ถังแตก

ส่วนข้อตกลงที่อาจเป็นไปได้ก็คือ การให้ 4 แคว้นในยูเครนเป็นรัฐอิสระ มีมหาอำนาจรับรอง ซึ่งมีกรณีมาแล้วในสงคราม 5 วัน รัสเซีย จอร์เจียปี 2008 และจอร์เจียยอมให้เซาท์ออสเตเชียกับอับคาเชียเป็นอิสระ ส่วน 4 แคว้นในยูเครนก็จะทำหน้าที่เหมือนกันชนระหว่างยูเครน-รัสเซีย และรวมถึงนาโตด้วย

ถ้ายูเครนจะอ้างหลักอธิปไตยเหนือดินแดนก็ลองดูกรณีซูดานที่ถูกแบ่งออกมาเป็น ซูดานใต้ โดย UN เป็นเจ้าภาพ หรือกรณีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ทรงยอมเสียดินแดนให้อังกฤษ และฝรั่งเศส เพื่อรักษาเอกราช

งานนี้บอกตรงๆว่าเป็นงานยาก ซึ่งจีนต้องรับบทหนักที่จะพยายามให้บรรลุผล แต่อย่างว่าเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่อาจลอดออกไปไม่ได้ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

มาพูดถึงอีกสมรภูมิ คือ ที่ชูดาน ซึ่งอย่าคิดว่าไม่สำคัญ UN ก็พยายามวิ่งเต้นหาทางยุติศึก และช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย

ขณะที่สหรัฐฯ อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย วิ่งกันวุ่นเพื่อหาทางยุติศึก อันจะบานปลายและมีผลกระทบออกไปทั้งภูมิภาค แอฟริกาและตะวันออกกลาง

อย่าคิดกันว่าเป็นเพียงการแย่งอำนาจกันระหว่างประธานาธิบดีพลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพกับรองประธานาธิบดี พลเอกมูฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล ผู้บัญชาการกองกำลัง Paratroop หน่วย RSF (Rapid Support Force)

เพราะเบื้องหลังมันมีมหาอำนาจและประเทศที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหนุนหลังกันอยู่ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครหนุนฝ่ายไหน

เบื้องแรกสหรัฐฯกำลังจะสูญเสียอิทธิพลในตะวันออกกลางและอิสราเอลจะถูกโดดเดี่ยว สหรัฐฯและอิสราเอล จึงพิจารณาในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ว่าซูดานจะเป็นสปริงบอร์ดที่จะหนุนหลังหากมีความขัดแย้งขึ้นในตะวันออกกลางก็ต้องมีฐานปฏิบัติการ

ขณะนี้ฝ่ายสหรัฐฯได้มีความพยายามเจรจาและให้ขัอเสนอกับกองกำลัง RSF ไปแล้วยังไม่ทราบผล

ด้านรัสเซียนั้นมีฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือ อยู่ที่ปอร์ทซูดาน สามารถจอดเรือรบได้ 6 ลำ ในขณะที่เขียนบทความกองเรือรบ 11 ลำและเรือดำน้ำ 2 ลำของรัสเซีย ได้เดินทางออกจากทะเลดำ สู่เมดิเตอเรเนียน และมุ่งลงใต้ ยังไม่ทราบภารกิจแต่คาดว่าจะมาจอดพักที่ปอร์ทซูดาน

อีกข่าวหนึ่งที่ไม่เคยเป็นข่าวใหญ่ก็คือ กองกำลังจากวากเนอร์ของเยฟกินี ปริโกซิน นั้นมีฐานปฏิบัติการอยู่ในซูดาน คือไปทำหน้าที่คุ้มครองเหมืองทองคำ บริเวณชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ติดกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง

สหรัฐฯเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มติดอาวุธและรวมถึงไอซิสที่ในขณะนี้ปฏิบัติการอยู่ในลิเบียที่มีชายแดนติดกับซูดาน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ

ด้านเหนือติดอียิปต์ ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองไม่มั่นคงนัก ภายใต้นายพลซีซี ที่สหรัฐฯหนุนยึดอำนาจ

ที่สำคัญคือทิศตะวันออกซูดานติดทะเลแดงที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเดินเรือระหว่างยุโรป เอเชีย-แอฟริกาตะวันออก สำคัญสุดคือน้ำมัน1 ใน 3 ของโลกต้องส่งไปเลี้ยงยุโรปที่ไปยุติการค้าพลังงานกับรัสเซีย

ดังนั้นในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ ซูดานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่ใช่แค่รบกันภายใน และมีผู้อพยพนับล้าน แต่มันอาจเป็นชนวนที่ทำให้มหาอำนาจปะทะกันเร็วขึ้น จึงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และแผนสันติภาพยังมองไม่เห็นแสงหิงห้อยใดๆเลย แม้จะมีความพยายามจะหย่าศึกก็ตาม