นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายชัด วิกฤตแบงก์สหรัฐล้มกับดอกเบี้ยขาขึ้น เกี่ยวกันอย่างไร

หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนเข้าสู่จุดสูงสุดในรอบ 16 ปีเมื่อวานนี้ (3 พ.ค.66) ด้วยเหตุผลรักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อ แต่กลับมีธนาคารจำนวนหนึ่งซวนเซล้มไม่เป็นท่า ผู้เชี่ยวชาญการเงินจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ไม่เหนือความคาดหมาย การกำกับดูแลอ่อนแอนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องจนคนแห่ถอนเงินเกลี้ยง

รศ.ดร.พรชนก คัมภีรยส คูเวนเบิร์ค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์เหตุการณ์ธนาคารภูมิภาค (Regional Bank) ในสหรัฐฯ ล้มติดต่อกันในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง Silvergate Bank, Silicon Valley Bank (SVB), Signature Bank และล่าสุดคือ First Republic Bank ว่า มีส่วนเกิดจากดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้งบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงิน (Balance sheet) ของธนาคารดูแย่ลง ฝั่งสินทรัพย์ (Assets) เช่น เงินกู้ (Loans) และตราสารหนี้ (Debt Securities) ที่อยู่ในมือธนาคารจะมีมูลค่าลดลง ขณะที่ภาระหนี้สิน (Liabilities) ของธนาคารเพิ่มขึ้น จากการแข่งขันเพื่อหาเงินฝากหรือการกู้ยืมเงินของธนาคารที่มีต้นทุนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เฟดจะส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่มรสุมในวงการธนาคารเหล่านี้ยังคงอยู่ และความเสียหายจะโผล่ออกมาในงบการเงินไตรมาสถัดๆไป

ยกตัวอย่างกรณี SVB ล้ม เพราะขาดทุนจากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ทำให้ความไม่มั่นใจใน First Republic ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะทั้งสองมีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยในไตรมาสแรกปีนี้ เงินฝากของ First Republic ลดลงไปกว่า 40% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 และราคาหุ้นตกไปถึง 88.5% ในเดือนมีนาคม ทั้งสองธนาคารมีขนาดใกล้เคียงกันและมีการกระจุกตัวของกลุ่มผู้ฝากเงินเหมือนกัน คือ ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่มีเงินฝากปริมาณมาก มากเกินความคุ้มครองเงินฝากของ Federal Deposit Insurance (FDI) ซึ่งคุ้มครองที่ $250,000 

“เมื่องบฐานะการเงินของธนาคารดูไม่ดี ผู้ฝากเงินก็ย้ายการลงทุนแห่ถอนเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปลงทุนในกองทุนตลาดเงิน (Money-market fund) ซึ่งเป็นตัวเลือกการลงทุนที่มีความปลอดภัย สภาพคล่องสูง และให้ผลตอบแทนสูงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น”

การถอนเงินของผู้ฝากเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ ซึ่งการป้องกันการลุกลามของปัญหาและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงิน คือ ธนาคารต้องมีแผนรับมือและเงินทุนเพียงพอ อันเป็นหัวใจของการใช้หลักเกณฑ์ Basel III เพื่อรับมือกับวิกฤตการขาดสภาพคล่อง แต่ทั้ง SVB และ First Republic ได้รับการยกเว้นจากกฎข้อบังคับเหล่านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นธนาคารขนาดกลางระดับภูมิภาค เมื่อเผชิญกับวิกฤตแห่ถอนเงิน (Bank run) จึงมีจุดจบอย่างที่เห็น 

การกำกับดูแลอ่อนแอ คนแห่ถอนเงิน
นอกจากการดำเนินงานของธนาคารที่ขาดการกำกับดูแล วิกฤตธนาคารสหรัฐ ฯ ล้มรอบนี้ ยังเป็นช่วงที่หลายปัญหาเกิดขึ้นประจวบเหมาะพร้อมกัน ทั้งการนำเงินฝากระยะสั้นไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ปล่อยกู้ระยะยาว ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการกระจุกตัวของผู้ฝากเงินที่มีความอ่อนไหวต่อสถานะทางการเงินของธนาคาร กรณีของ Silvergate Bank และ Signature Bank เป็นธนาคารที่เน้นปล่อยกู้และรับฝากในอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี เมื่ออุตสาหกรรมนี้ชะลอตัว ย่อมส่งผลกับธนาคาร

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.พรชนก มองว่าเป็นปัญหาเฉพาะของธนาคารขนาดกลางที่ขาดการกำกับดูแลในสหรัฐฯ ส่วนระบบธนาคารในภาพรวมน่าจะไม่มีปัญหาขนาดนั้น ยังมีธนาคารที่ฐานะการเงินดี เราจึงยังเห็นการเข้าซื้อกิจการของธนาคารที่มีปัญหา (Take over) และ ทางการของสหรัฐฯ ประกาศคุ้มครองเงินฝากของประชาชน 100% พร้อมออกมาตราการ Bank Term Funding Program เพื่อให้สถาบันการเงินที่มีปัญหาสภาพคล่องสามารถกู้ยืมจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เท่ากับมูลค่าหน้าตั๋ว (Face Value) ของพันธบัตรรัฐบาลที่นำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

“ไม่ได้มองว่าเป็นการอุ้มธนาคารที่มีปัญหา เป็นการเข้าดูแลผู้ฝากเงินและเพิ่มสภาพคล่องให้สถาบันการเงินมากกว่า เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ เท่าที่เห็นไม่มีมาตรการช่วยเหลือดูแลนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ของธนาคาร”

ผลต่อวงการธนาคารไทย
เนื่องจากวิกฤตธนาคารในสหรัฐฯ รอบนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ไม่น่ามีความเชื่อโยงโดยตรงกับระบบการเงินการธนาคารของไทย บัญชีเงินบาทส่วนใหญ่ (ประมาณ 98% ของผู้ฝากทั้งระบบ) อยู่ภายใต้ระบบคุ้มครองเงินฝาก ช่วยลดโอกาสการแห่ถอนเงินค่อนข้างมาก และจากอดีตที่ผ่านมาการเกิด Bank run ทั้งระบบเป็นไปได้น้อยมาก มักเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสถาบันการเงิน (Idiosyncratic) ที่สถานะทางการเงินมีปัญหา 

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและระบบการเงิน อาทิ หลักเกณฑ์ Basel III เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้สถาบันการเงินถือสินทรัพย์สภาพคล่องสูงเพียงพอที่จะดำเนินการได้ 30 วันในภาวะวิกฤต (ตาม Liquidity Coverage Ratio) รวมถึงบริหารแหล่งที่มาของเงินทุนและความต้องการใช้เงินทุนให้มีระยะเวลาสอดคล้องกัน (ตาม Net Stable Funding Ration) 

อย่างไรก็ตาม เราในฐานะผู้ฝากเงินควรรู้ว่าธนาคารนำเงินของเราไปทำอะไร และผู้กำกับดูแลต้องติดตามสถาบันการเงินว่าปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ครบถ้วน หรือมีการหลีกเลี่ยงกฏหรือไม่ เช่น การบิดเบือนราคาซื้อขายบ้านเพื่อให้สามารถกู้ซื้อบ้านได้เต็มจำนวน แทนการวางเงินดาวน์ขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์ Loan to Value รวมถึง ควรมีการเฝ้าระวังสถาบันการเงินนอกการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยว่ามีช่องโหว่ของกฎระเบียบที่จะนำไปสู่ปัญหาอย่างในสหรัฐฯหรือไม่