สนค.เผยช่วงใกล้เลือกตั้ง คนไทยหลายกลุ่มเพิ่มความสนใจทางการเมืองเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงสุดในรอบ 52 เดือน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ในเดือนเมษายนปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.5 ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และสูงสุดในรอบ 52 เดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะภาค    การท่องเที่ยว ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลง และบรรยากาศคึกคักในช่วงการเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก หากพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นใน 9 ด้าน คือ เศรษฐกิจไทย  เศรษฐกิจโลก  มาตรการของรัฐ  สังคม/ความมั่นคง  การเมือง/การเลือกตั้ง  ภัยพิบัติ/โรคระบาด ราคาสินค้าเกษตร ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอื่น ๆ พบว่า ปัจจัยทางการเมืองและการเลือกตั้งมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในเดือนมกราคม 2566 ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญปัจจัยทางการเมืองและการเลือกตั้งต่อความเชื่อมั่น เป็นอันดับที่ 7 จาก 9 ปัจจัย อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้งปัจจัยด้านการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นปรับสูงขึ้น โดยอยู่ที่อันดับที่ 5 และอันดับที่ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ตามลำดับ และเดือนเมษายนมาอยู่อันดับที่ 2 ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการเลือกตั้งต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และเมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจำแนกตามมิติต่าง ๆ ทั้งภูมิภาค ช่วงอายุ อาชีพ รายได้ และการศึกษา เทียบกับช่วงต้นปีในเดือนมกราคม 2566 มีรายละเอียดดังนี้ 

ประชาชนภาคเหนือมองว่าการเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้น    มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 176 รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 163 ภาคใต้ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 128 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 105 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 99 ตามลำดับ หากเทียบปัจจัยการเมืองในแต่ภาค พบว่า เดือนมกราคม 2566 ประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมองว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อความเชื่อมั่นมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่เมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้ง ทุกภาคปรับเพิ่มขึ้นและมองว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน 

สำหรับกลุ่มช่วงอายุ 40-49 ปี มองว่าการเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 185 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดหากเทียบกับประชาชนในกลุ่มอายุอื่นๆ รองลงมาได้แก่ กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 166 กลุ่มอายุ 50-59 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 142 กลุ่มอายุ 30-39 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 121 กลุ่มอายุ 20-29 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 97 และกลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 53 ตามลำดับ 

หากพิจารณาตามกลุ่มอาชีพ พบว่า พนักงานบริษัทมองว่าการเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 171 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดหากเทียบกับอาชีพอื่น ๆ รองลงมา ได้แก่ เกษตรกร ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 145 ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงาของรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 124 ผู้ประกอบการ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 114 อาชีพรับจ้าง/บริการอิสระ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 105 และกลุ่มคนไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ปรับเพิ่มเล็กน้อยร้อยละ 6 ตามลำดับ หากเทียบปัจจัยการเมืองในแต่ละอาชีพพบว่า เดือนมกราคม 2566 กลุ่มนักศึกษาและไม่ได้ทำงาน/บำนาญ มองว่าปัจจัยทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ  แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง ทุกกลุ่มอาชีพปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน 

เมื่อจำแนกตามรายได้ พบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 40,001 ถึง 50,000 บาท มองว่าการเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 273 รองลงมา ได้แก่ รายได้ตั้งแต่ 50,001 ถึง 100,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 271 รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 186 รายได้ตั้งแต่ 100,001 บาท ขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 168 รายได้ตั้งแต่ 10,001 ถึง 20,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 160 รายได้ตั้งแต่ 20,001 ถึง 30,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 156 รายได้ตั้งแต่ 30,001 ถึง 40,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 110 และรายได้ตั้งแต่ 5,001 ถึง 10,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 ตามลำดับ

สำหรับประชาชนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมองว่า การเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 172 รองลงมา ได้แก่ อนุปริญญา ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 158 ปริญญาตรี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 121 มัธยม/ปวช. ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 และระดับต่ำกว่ามัธยม ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 71 ตามลำดับ

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้ความสำคัญด้านการเมืองและการเลือกตั้งของประชาชนกลุ่มต่างๆ จากเดิมมีลักษณะกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มในช่วงก่อนการเลือกตั้ง (ม.ค. 2566) ไปสู่ทุกกลุ่มให้ความสำคัญการเมืองและการเลือกตั้งมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้การเลือกตั้ง และยังส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนถึง     การคาดหวังในนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆได้มีการหาเสียงไว้ ซึ่งคาดว่าจะตอบโจทย์ของคนในแต่ละกลุ่มอย่างครบถ้วน ดังนั้น หากจะรักษาโมเมนตัมให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับช่วงเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว นโยบายต่างๆ ควรมีการดำเนินให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งทาง สนค. จะได้ติดตามและสะท้อนความคาดหวังของประชาชนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อไป เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการส่งเสริมการดำเนินนโยบายภาครัฐที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการประชาชนอย่างตรงจุดให้มากที่สุด