กำเนิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ในปี 2505 ที่พายุโซนร้อน “แฮเรียต” พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทยสร้างความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงห่วงใยผู้ที่ประสบวาตภัยดังกล่าว จึงโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิต ประกาศเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งในระยะเวลา1 เดือน ความช่วยเหลือได้หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ 5 ล้านบาท และเมื่อได้ช่วยเหลือในระยะแรกแล้วยังเหลือเงินอีก 3 ล้านบาท พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า เงินนี้ควรตั้งเป็นทุนเพื่อหาดอกผลสำหรับสงเคราะห์เด็กซึ่งครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู และสำหรับสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศอีกประการหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงได้พระราชทานเงิน 3 ล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2506 โดยพระราชทานนามว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน “พระบรมราชูปถัมภ์” พร้อมทั้งทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธินี้ด้วย โดยชื่อของมูลนิธินี้หมายความว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นต้นแบบแห่งความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักและปฏิบัติตามเพื่อแบ่งปันสุขให้เกิดขึ้นถ้วนหน้ากัน. ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ย้อนกลับไปในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเปิดโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งแต่เดิมนั้นตั้งขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ต.บ้านสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี เป็นโรงเรียนประจำกินนอน มีวัตถุประสงค์ที่จะฝึกอบรมนักเรียนเพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในยุโรป ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ได้โอนมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียนได้ศึกษาวิชากฎหมายในชั้นอุดมศึกษาต่อไป และหลังจากสงครามโลก รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกับโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนเดียวกัน และพระราชทานนามว่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ครั้นมาถึงปี 2507 ได้มีการตั้งราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษาขึ้น เพื่อดำเนินการเรื่องก่อตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยกระทรวงศึกษาธิการให้ใช้สถานที่โรงเรียนเตรียมอุดมสามพรานเดิม ณ ต.ท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม และนำความขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราช ทานนามว่า " โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์" กษัตริย์เกษตร วันที่ 9 กรกฎาคม เมื่อพุทธศักราช 2507 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราโชวาท เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีใจความตอนหนึ่งว่า “ ...เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับเกษตรมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุกๆฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ ก็เพราะเกษตรของเราเจริญ... ” ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงทุ่มเทพระวรกายในการคิดค้นหาวิธีการมากมายเพื่อพัฒนาการเกษตรไทยให้มีความเจริญมั่นคง ทรงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐาน คือการพัฒนาดิน น้ำและป่าไม้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เช่นเดียวกับแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ อันเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกรรมแบบผสมผสานสร้างความพออยู่พอกิน รวมทั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กลายเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในภูมิภาคต่าง ๆ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้สร้างความสำเร็จ กล่าวได้ว่าความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร และความเจริญพัฒนาของเกษตรกรรมไทยในวันนี้ ล้วนมาจากพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาความเป็นผืนแผ่นดินแห่งเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์สืบไป . โรงเรียนวังไกลกังวล วันที่ 31 พฤษภาคม เมื่อพุทธศักราช 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียน โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นโรงเรียนในเขตพระราชฐานวังไกลกังวลและเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่จัดการศึกษาแบบครบวงจร ตั้งแต่ระดับเด็กเล็กก่อนวัยเรียนจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับวิชาชีพและระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอันเป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมในปี 2539 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ปัจจุบันโรงเรียนวังไกลกังวลได้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ถ่ายทอดกระบวนการศึกษาไปยังผู้เรียนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งขยาย ไปยังเครือข่ายในต่างประเทศ นำไปสู่การเผยแพร่หลักวิชาความรู้ อันเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน สำนักงาน กปร.ข้อมูล