นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน 2566 การรถไฟฯ ได้จัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว เส้นทางกรุงเทพ–นครปฐม พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกความทรงจำในเส้นทางขบวนรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดี โดยเริ่มเปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ทุกช่องทางการจำหน่ายตั๋วของการรถไฟฯ
สำหรับขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ เส้นทางกรุงเทพ – นครปฐม – กรุงเทพ ขบวนที่ 907/908 เริ่มออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตั้งแต่เวลา เวลา 08.10 น. ถึงสถานีนครปฐม เวลา 10.10 น. ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไหว้พระปฐมเจดีย์ แลนด์มาร์คของจังหวัดนครปฐม และท่องเที่ยวภายในจังหวัดนครปฐมได้ตามอัธยาศัย ประมาณ 6 ชั่วโมง เดินทางท่องเที่ยวตัวเมืองนครปฐม ไหว้พระ ช้อป แชะ ชิม อาหารอร่อย ๆ ของดี ของเด็ดเมืองนครปฐม จากนั้นเที่ยวกลับขบวนรถจักรไอน้ำออกจากสถานีนครปฐม เวลา 16.30 น. ถึงกรุงเทพ เวลา 18.30 น. โดยหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่ ศาลายา บางบำหรุ ชุมทางบางซื่อ สถานีสามเสน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นหรือลงตามสถานีดังกล่าวได้
นายเอกรัชฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว เส้นทางกรุงเทพ – นครปฐม ถือเป็น 1 ใน 6 โอกาสพิเศษ ที่การรถไฟฯ นำหัวรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ รุ่นแปซิฟิก หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี มาเปิดให้บริการแก่ประชาชนเพื่อการท่องเที่ยว โดยอัตราค่าโดยสาร ไป - กลับ รถนั่งชั้น 3 ผู้ใหญ่/เด็ก ราคา 299 บาท ท่องเที่ยวตามอัธยาศัย พร้อมให้บริการอาหารว่างและน้ำดื่มบนขบวนรถไฟ และรถนั่งปรับอากาศ (รถโอทอป) ราคา 1,999 บาท ให้บริการนำเที่ยวตามโปรแกรมบริการอาหารกลางวัน อาหารว่างน้ำดื่ม และบริการอื่น ๆ ตลอดทริปการเดินทาง
ผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางต่าง ๆ ของการรถไฟฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็บไซต์ www.railway.co.th หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย