พาณิชย์เผยสถานการณ์เงินเฟ้อไทยคลี่คลาย ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ต่ำที่สุดในอาเซียน และต่ำติดอันดับ 14 ของโลกจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง สินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 2.67 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในปีนี้คลี่คลายอย่างต่อเนื่อง 

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.67 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซินลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีราคาหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นเพียงร้อยละ 1.39 (YoY) ประกอบกับสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 4.53 (YoY) ชะลอตัวจากร้อยละ 5.22 ในเดือนมีนาคม 2566 ตามราคาสินค้าอาหารที่ชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.66 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.75 (YoY) สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.19 (MoM) และเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค. – เม.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 3.58 (AoA) เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อของไทยเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอยู่ระดับต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม 

ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัว และบางรายการเริ่มทรงตัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว อาจทำให้เงินเฟ้อขยายตัวได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะกำกับดูแลปริมาณสินค้าให้มีเพียงพอในราคาที่เหมาะสม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดกิจกรรมลดค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน Lot 24 “Back to School” ลดราคาเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง

นายบุณย์ธีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดวิกฤตการณ์หลายอย่าง อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ วิกฤติพลังงาน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ และภาคเอกชน ได้ประสานความร่วมมือทำงานอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด 
โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคจนผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มาได้ นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ค้า ตลอดจนจัดหาช่องทางการตลาดให้มากขึ้น ตามภารกิจของกระทรวงฯ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน