พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมกมธ.ไอซีที วุฒิสภา  ได้หารือและเสนอแนะความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เรื่อง "นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงด้านสุขภาพ"  หลังได้เชิญ 3 หน่วยงานรัฐ  ชี้แจงข้อมูล  เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง 

นายนิพนธ์ นาคสมภพ โฆษษกกมธ.ไอซีทีวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร กล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนางานด้านผู้สูงอายุ ด้วยการจัดทำดิจิทัลเซอร์วิส "Gold Application" เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ  ทั้งการให้บริการกู้ยืมเงินทุน เพื่อการประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ ผ่านช่องทางออนไลน์ https://www.dop.go.th/th และ Gold Application ในด้านการพัฒนาศักยภาพ (E learning) ผ่านหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ  18 ชั่วโมง ผ่านช่องทางออนไลน์ https://www.thaielderlycare.org/ และ Gold Application   

ด้านสุขภาพ มุ่งเน้นการ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.)  12  แห่ง  มาใช้ขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุ  โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี อย่างเหมาะสม การใช้หมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลและลงทะเบียนขอรับการบริการ  ขณะนี้มีผู้ประสงค์เข้าสู่สถานบริการ 2,000 คน มีผู้อยู่ในศูนย์บริการ 1,238 คน กมธ.ไอซีที วุฒิสภา เสนอแนะการวางแผนระยะยาว เพื่อการบริหารจัดการผู้สูงอายุ การมุ่งประชาสัมพันธ์การใช้แอปพลิเคชัน Gold  เพื่อให้รับรู้กันอย่างแพร่หลาย การหาหน่วยงานเข้ามาดูเรื่อง การใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยตรง เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวก 

กมธ.ไอซีที วุฒิสภา เสนอแนะว่า การจัดทำมาตรฐานเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ ยังการขาดแคลนห้องปฏิบัติการรองรับการทดสอบของมาตรฐานใหม่ จึงขอให้ทางภาคเอกชน และรัฐบาลช่วยสนับสนุน ห้องปฏิบัติการมากขึ้น หลังจากพบว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดทำมาตรฐานฯในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ 255 มาตรฐาน และมีมาตรฐานบังคับ จำนวน 5 มาตรฐาน  และในปี 2567  สมอ.เตรียมจัดทำโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานอุตสาหกรรม และบริการทางการแพทย์  12 มาตรฐาน เช่น อุปกรณ์ช่วยพยุง ลุก-ยืน เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือ อุปกรณ์ฝึกเดิน มุ่งผลักดันเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะหุ่นยนต์ และ เครื่องกล  กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เชื่อมกับอุปกรณ์ต่างๆ การกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องใช้ผู้สูงอายุ ควรให้เป็นมาตรฐานเดียว เช่น อุปกรณ์เต้าเสียบปลั๊กแบบ 2 ขา และ 3 ขา  ยังไม่มีมาตรฐานเพื่อบังคับการใช้งาน

ส่วนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) ได้บริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม  เช่น ระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ระบบบริการดูแลที่บ้านมีคุณภาพในราคาเป็นธรรม การสนับสนุนหุ่นยนต์ฝึกเดิน การพัฒนาเครื่องหุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอาการหลอดเลือดสมองหรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุต่าง ๆ  ขณะนี้มีการใช้งานในหลายโรงพยาบาล ต้นทุนราคา 3 - 4 ล้านบาท ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว  คณะอนุกรรมาธิการมองว่า ยังได้รับงบประมาณค่อนข้างจำกัด ควรส่งเสริมให้ สปสช.ใช้นวัตกรรมในประเทศมากขึ้น