วันที่ 2 พ.ค.66 เพจ Anti-Fake News Center Thailand โพสต์ข้อความระบุว่า ไซยาไนด์ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ พบได้ในหลายรูปแบบ เช่น โซเดียม ไซยาไนด์ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง , โพแทสเซียม ไซยาไนด์ ใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน , ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ในรูปของของเหลวหรือแก๊สที่ไม่มีสี เช่น ควันท่อไอเสีย ควันจากบุหรี่ เป็นต้น
หากร่างกายได้รับสารเคมีไซยาไนด์ ไม่ว่าจะทางผิวหนัง สูดดมหรือรับประทาน สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ดังนี้
- หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีการปนเปื้อนพิษ กรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบาก หรือหยุดหายใจ ทำ CPR และนำส่งแพทย์ทันที ห้ามผายปอดเด็ดขาด
- สัมผัสทางผิวหนัง ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออก ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่ ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
- สัมผัสทางดวงตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกัน อย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ
ทั้งนี้ไซยาไนด์ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย หมายความว่า บุคคลทั่วไปไม่สามารถซื้อหา หรือผลิตได้หากไม่ได้รับใบอนุญาต
ที่มา : กองห้องปฏิบัติการสาธารณสุขกรมอนามัย