เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่อุโมงค์แม่กา จ.พะเยา นั้น ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สำหรับอุโมงค์แม่กา (สัญญา 2) ประกอบด้วย ชั้นดิน และชั้นหิน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัดคือ ลำปาง และพะเยา เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว แบ่งเป็นฝั่ง up track และ down track ความยาว 2,700 เมตร (ทั้งหมด 5,400 เมตร) ภายในอุโมงค์มีทางเชื่อม 2 ประเภทคือ ทางเชื่อมกรณีฉุกเฉินเพื่ออพยพ (cross passage) 11 จุด และทางเชื่อมที่เป็นห้องควบคุมงานระบบ (equipment room) 4 แห่ง
สำหรับอุโมงค์แม่กา เป็นหนึ่งในสี่อุโมงค์ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีความยาวของอุโมงค์ 2,700 เมตร (รวมสองฝั่ง 5,400 เมตร) ในพื้นที่สัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย กิจการร่วมค้า “ซีเคเอสที-ดีซี2” ประกอบด้วย ช.การช่าง, ซิโน-ไทยฯ และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด โดยอุโมงค์แม่กาก่อสร้างเป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว ภายในอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7.4 เมตร สูง 7.341 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์ดินเหนียวแข็ง (Unconsolidated sediment) ร้อยละ 85 และชั้นหิน(Siltstone) ประมาณร้อยละ 15 จึงใช้วิธีขุดเจาะอุโมงค์แบบ New Austrain Tunnelling Method (NATM) และ drill and blast สำหรับหินแข็ง โดยด้านทิศเหนือ อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งได้เริ่มงานเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปัจจุบันขุดอุโมงค์ฝั่งลงใต้ได้ 42 เมตร และฝั่งขึ้นเหนือได้ 44 เมตร โดยมีอัตราการขุดเจาะวันละ 1 เมตร คาดว่าใช้เวลาขุดเจาะและ ดาดคอนกรีตรวมประมาณ 50 เดือน ส่วนด้านทิศใต้ อ.งาว จ.ลำปาง ยังระเบิดหินไม่เสร็จ
ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีอุโมงค์ 4 แห่ง ซึ่งมีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร ที่ จ.แพร่ อยู่อำเภอสอง 2 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร ส่วนอุโมงค์ที่ 3 อยู่ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าโครงการฯ จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน ปี 2571 ซึ่งจะรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าเชื่อมกับสปป.ลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วยส่งเสริมการเดินทาง การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน