จากการเปิดเผย ผลการประเมินคะแนนการเงินที่เป็นธรรมด้านต่างๆของสถาบันการเงินไทย 11 แห่ง  ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย 8 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ที่เปิดเผยสู่สาธารณะ โดย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้ประเมินจากแนวนโยบายของแต่ละสถาบันการเงินไทย ตลอดปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา โดยใช้ "แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ" (Fair Finance Guide International) มาเป็นเกณฑ์ประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของ 8 ธนาคารพาณิชย์ไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคิน   สถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค เพื่อมุ่งผลักดันการสถาบันการเงินไทยที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ผลการประเมินของธนาคารไทยพบว่า ทั้ง 11  แห่ง  พบว่าธนาคารได้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 30.66 คะแนนในปีพ.ศ. 2564 เป็น 33.94 คะแนน ในปีพ.ศ.2565 (เพิ่มขึ้น 11.94%) โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (42.56%) ธนาคารกสิกรไทย (34.03%) ธนาคารกรุงไทย (33.43%)ธนาคารไทยพาณิชย์(32.00%) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา(29.68%)

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) ครองอันดับหนึ่งธนาคารไทยที่มีคะแนนรวมสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากการประเมินโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ปี 2565 ด้วยคะแนน 55.33 คะแนน หรือ 42.56% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.59% ยังคงโดดเด่นในหมวด “สิทธิมนุษยชน” ที่ได้คะแนนสูงถึง 73.33% และหมวด “การคุ้มครองผู้บริโภค” มีคะแนน 68.42% อีกทั้งในหมวด “สุขภาพ” ทีเอ็มบีธนชาตเป็นธนาคารแห่งเดียวที่มีการตั้งเป้าหมายการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมยาสูบเป็นศูนย์ภายในปี 2566 พร้อมกันนี้ ธนาคารยังได้รับรางวัลพัฒนาการสูงสุด 5 ปี พ.ศ. 2561-2565 ตอกย้ำในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) อย่างแท้จริง

นายกมลพันธ์  ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ทีเอ็มบีธนชาตพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเกี่ยวกับ ESG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) และตราสารหนี้สีฟ้า (Blue Bond) รวมถึงสินเชื่อสีเขียว นอกจากนี้ ยังช่วยผู้คนในสังคมผ่านบริการทางการเงินต่าง ๆ เช่น การรวมหนี้ให้ลูกค้า เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินในภาพรวม และทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ด้วยการปลดล็อกเกณฑ์ความเสี่ยงเปิดให้เพศเดียวกันสามารถกู้ร่วมกันได้ เป็นต้น โดยธนาคารพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและทุกบริบทของการเปลี่ยนแปลง

“รางวัลธนาคารที่มีคะแนน ESG รวม สูงสุดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 4 ปี และรางวัลพัฒนาการสูงสุด 5 ปี ต่อเนื่อง ถือเป็นความภาคภูมิใจของทุกภาคส่วนในองค์กรที่ช่วยกันทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการประเมินของ Fair Finance Thailand ค่อนข้างเจาะลึกและมีความเข้มข้นในเรื่อง ESG โดยหนึ่งประเด็นที่ทีเอ็มบีธนชาตเห็นว่ามีผลกระทบต่อสังคมคือ การปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงอยากให้ยาสูบพ้นไปจากสังคมไทยและพอร์ตสินเชื่อ โดยธนาคารได้ตั้งเป้าหมายการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมยาสูบเป็นศูนย์ภายในปี 2566 ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบตั้งแต่การปลูก การผลิต และการค้ายาสูบและผลิตภัณฑ์ยาสูบ แม้จะทำได้ยาก เพราะมีธุรกิจอื่น ๆ เกี่ยวข้องในซัพพลาย เชน อีกมากมาย แต่ก็ต้องทำเพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก” นายกมล กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะผลคะแนนของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง พบว่าธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 34.98 คะแนน ในปีพ.ศ.2564 เป็น 38.32 คะแนนในปี พ.ศ.2565 (เพิ่มขึ้น 9.96%) ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3 แห่ง ที่ได้รับการประเมินเป็นปีที่สามพบว่ามีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 19.12 คะแนนในปี พ.ศ.2564 เป็น 22.25 คะแนนในปี พ.ศ.2565 (เพิ่มขึ้น 17.22% มากกว่าการเพิ่มขึ้นของคะแนนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์)

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาธนาคารที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นในปีนี้พบว่าธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง มีคะแนนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนในปีที่สี่ โดยธนาคารที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ (เพิ่มขึ้น 22.16%) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (เพิ่มขึ้น 20.77%) และธนาคารกสิกรไทย (เพิ่มขึ้น17.25%) ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3 แห่ง พบว่าได้คะแนนเพิ่มขึ้นทุกแห่งเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนในปีที่สี่โดยสามารถจัดอันดับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เพิ่มขึ้น 25.49%) ธนาคารออมสิน (เพิ่มขึ้น 15.59%) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (เพิ่มขึ้น 10.60%)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงอันดับของธนาคารไทย 11 แห่ง พบว่าธนาคารส่วนใหญ่ยังคงแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยอยู่ในอันดับเดิม ยกเว้นธนาคารกสิกรไทยที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นทําให้อันดับเพิ่มขึ้นเป็นที่ 2 ของการประเมินในปีนี้ขณะที่ธนาคารกรุงไทยได้คะแนนลดลง (ลดลง 0.77%)เนื่องจากมีการปรับนโยบายบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมิน จึงทําให้ธนาคารกรุงไทยมีอันดับลดลงมาเป็นที่ 3 ของการประเมินในปีนี้

โดยผลการประเมินนโยบายธนาคารประจำปี พ.ศ.2565 สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งมีการปรับปรุงนโยบายสินเชื่อและรายการธุรกิจที่ธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) ที่มีความชัดเจนมากกว่าทุกปี โดยเฉพาะการให้ความสำคัญมากขึ้นกับธุรกิจที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การประกาศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และธุรกิจเหมืองถ่านหิน หรือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทยอยลดเงินกู้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหินที่มีอยู่แล้วให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030)

สำหรับธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นมากขึ้น โดยมีการประกาศว่าธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ที่ครอบคลุมลูกค้าธุรกิจของธนาคารด้วย (กล่าวคือ ลูกค้าต้องเคารพในสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักการชี้แนะ UNGP ด้วย) ซึ่งลูกค้าธุรกิจของธนาคารจะต้องมีกระบวนการเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัท (ลูกค้า) เป็นผู้ก่อหรือมีส่วนในการก่อ และมีการจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมในกลไกเรื่องร้องเรียนระดับปฏิบัติการจากปัจเจกและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ขณะที่ธนาคารที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิแรงงานและความเท่าเทียมทางเพศที่มากขึ้น เช่น การประกาศนโยบายว่าลูกค้าของธนาคารไม่เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตามและแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน หรือการประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ (zero tolerance policy) ในที่ทำงาน ซึ่งรวมถึงการคุกคามทางวาจา ทางร่างกาย และทางเพศ รวมถึงมีการเปิดเผยช่องว่างค่าตอบแทน gender pay gap