โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลเร่งเดินหน้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายพัฒนาแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสจากการแข่งขัน และดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ดำเนินการทำงานที่สนับสนุน พัฒนา ฝึกฝน และดูแลแรงงานไทย ซึ่งถือเป็นทรัพยากรมนุษย์หลักของประเทศที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความท้าทายเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรที่มีผลสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทุกประเทศจะต้องมีแผนรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นโอกาสของแรงงานไทยที่จะไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยตั้งเป้าส่งออกแรงงานในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 50,000 คน โดยในปี 2565-2566 ไทยสามารถส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศได้กว่า 1 แสนคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 299,077 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลกรมการจัดหางาน ประเทศญี่ปุ่นต้องการแรงงานไทยเป็นแรงงานในระบบฝึกงาน (ทำงานปกติ) แรงงานทักษะฝีมือ และแรงงานทักษะเฉพาะ โดยตั้งเป้านำเข้าแรงงานต่างชาติที่มีทักษะเฉพาะถึง 3 - 4 แสนคน ภายในช่วงเวลา 5 ปี จาก 9 ประเทศ ดังนี้ ประเทศจีน เวียดนาม ไทย กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย โดยเฉพาะในงานอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง เช่น ช่างเชื่อม งานหล่อโลหะ งานปั๊มขึ้นรูปโลหะ งานหล่อพลาสติก เครื่องจักร งานกลึง งานก่อสร้าง เป็นต้น

“รัฐบาลเตรียมความพร้อม สนับสนุนการพัฒนา และจัดสรรทรัพยากรแรงงาน ทั้งการฝึกความพร้อม และเพิ่มพูนทักษะทุกด้านที่จำเป็น อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อความพร้อมด้านภาษา และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนทักษะและเปลี่ยนสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นแรงงานมีฝีมือเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถการหารายได้ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อยกระดับวิถีชีวิตของแรงงานและครอบครัว องค์ความรู้ที่แรงงานจะได้รับ ตลอดจนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างสมดุล ยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว