เมื่อวันที่ 1 พ.ค.66 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้ประเมินค่าไฟหลังผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงเดือน ม.ค.เม.ย. เชื่อว่าหลังจากนี้ค่าไฟจะทยอยลดลง หลังปริมาณก๊าซอ่าวไทยเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือน ส.ค. และเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันช่วงปลายปีนี้ ประกอบกับราคาแอลเอ็นจีนำเข้าถูกลง จะนำไปลดค่าเอฟทีงวดถัดไป สำหรับเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ซึ่งอาจมีโอกาสได้เห็นค่าไฟเฉลี่ย ที่เรียกเก็บกับประชาชนลงมาอยู่ที่ระดับ 4.30-4.40 บาทต่อหน่วยได้
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของก๊าซในอ่าวไทย จะทำให้ค่าไฟราคาถูกลงแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากราคาก๊าซธรรมชาติจากตลาดจร (แอลเอ็นจีสปอต) ได้ราคาลดลงเช่นเดียวกัน จากงวดก่อนที่อยู่ประมาณ 24 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ลงมาอยู่ที่ 14.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู การรับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ยังมีปัญหาอยู่เพราะว่าในตอนนั้น ที่ตั้งเกณฑ์ขึ้นมากำหนดให้มีการต่อสัญญาอัตโนมัติทุก 5 ปี จากระยะสัญญาตั้งต้น 10 ปี ถือว่าเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่แพง
ผอ.สำนักนโยบายฯ ระบุว่า ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมยังอ้างว่า ไม่สามารถลดอัตราซื้อขายได้เพราะมีสัญญากำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทมหาชนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นอัตราที่บวกไปกับต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ประชาชนต้องจ่ายที่ 0.1384 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 2.90% จากต้นทุนที่มาจากนโยบายของรัฐ ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นนั้นเป็นเรื่องของต้นทุนเชื้อเพลิง เนื่องจาก 50-60% ของการคิดค่าไฟมาจากเชื้อเพลิง นอกจากนั้นจะเป็นส่วนของต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า, ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า และต้นทุนขายปลีกและจำหน่าย เป็นต้น ไม่เกี่ยวกับการสำรองไฟฟ้า หรืออาร์เอ็มของประเทศ
นายวัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า เมื่อมาดูข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีสำรองไฟฟ้าไม่สูงมากนัก โดยแบ่งตัวอย่างสัดส่วนอาร์เอ็ม ปี 59 เช่น สเปน มี อาร์เอ็ม ที่ 180% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 51.1%, อิตาลี อาร์เอ็ม 136% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 44.8%, โปรตุเกส อาร์เอ็ม 130% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 64.1%, เดนมาร์ก อาร์เอ็ม 130% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 52.1%, เยอรมนี อาร์เอ็ม 111% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50.2%, จีน อาร์เอ็ม 91% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 33.1%, มาเลเซีย อาร์เอ็ม 51% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 25.7% และไทย อาร์เอ็ม 39% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 21.8%
"ในอนาคตหากมีพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น เราต้องมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย และราคาอาจจะแพงขึ้น เนื่องจากต้องมีการไปพัฒนาระบบการกักเก็บพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ที่จะ ขายไฟฟ้ากลับมาเข้าระบบ ซึ่งต้องมีการบริหารระบบไว้อย่างดี ขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลอาจไม่เพิ่มขึ้น แต่ยัง คงรักษาไว้เพื่อความมีเสถียรภาพ และ โรงไฟฟ้าฟอสซิลจะปลดระวางตามกาลเวลา ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ จะสร้างได้ยากขึ้นเพราะข้อจำกัดด้านพื้นที่ ด้าน กฟผ. เองมองว่าการสร้างสายส่งเพื่อไปรองรับพลังงานทดแทน อาจจะไม่คุ้มเท่ากับการสร้างแบตเตอรี่กักเก็บ" ผอ.สำนักนโยบายฯ กล่าว
ส่วนทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เปิดเผยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีกลับหนังสือจากทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือนำส่งหนังสือของกระทรวงพลังงานที่ขอให้ กกต.พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบในการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติใช้งบกลาง 11,112 ล้านบาท มายังสำนักงาน กกต. เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ว่า ตอนนี้ประสานกันอยู่ มีหลายอย่าง ไม่ได้กังวลอะไร เพียงแต่ว่าต้องทำหลักฐานให้เรียบร้อย เพราะอยู่ในช่วงรักษาการ ส่วนจะยื่นภายในวันที่ 2 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุม ครม.หรือไม่นั้น ต้องรอดูอีกครั้ง ขอให้ประชาชนรอก่อน