วันที่ 30 เม.ย.66 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "Center for Medical Genomics" ระบุว่า...

โอไมครอนลูกผสม “XBB.2.3” หรือ อะครักซ์ (Acrux) กำลังจะเข้ามาแทนที่โอไมครอน XBB.1.16 หรือ อาร์คทูรัส (Arcturus)

อีกไม่นานเราจะได้ยินชื่อบรรดาลูกหลานของตระกูลโอไมครอน XBB กล่าวคือ XBB.2.3 (อะครักซ์) ควบคู่ไปกับ XBB.1.5 (คราเคน/Kraken), XBB.1.9.1 (ไฮเปอเรี่ยน/Hyperion) และ XBB.1.16 (อาร์คทูรัส /Arcturus)

โอไมครอนลูกผสม XBB.2.3 พบระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดียและสิงคโปร์ มีแนวโน้มจะมาแทนที่โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 และสมาชิกในตระกูล XBB ที่หมุนเวียนอยู่ในอินเดียและสิงคโปร์เร็วๆนี้ ในสหรัฐเริ่มพบการระบาดของโอไมครอน XBB.2.3 เช่นกัน ส่วนในไทยเพิ่งตรวจพบเพียง 6 ราย ยังไม่สามารถคำนวณหาค่ามความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เทียบกับสายพันธุ์อื่นได้

โอไมครอนลูกผสม XBB.2.3 มาพร้อมกับการกลายพันธุ์ที่ส่วนหนาม “S:T478K” เหมือนกับสายพันธุ์เดลตาในอดีต ที่ช่วยให้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดี รวมถึงการกลายพันธุ์ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนามคือ “ORF7a:A13V” พร้อมกับการขาดหายไปในส่วนของ “Orf9”

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้ตรวจสอบข้อมูลรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 จากฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส (GISAID)” พบโอไมครอน XBB.2.3

ทั่วโลกประมาณ 2,264 ราย

อินเดีย 664 ราย

สิงคโปร์ 364 ราย

ไทย 6 ราย

ฯลฯ

ในอาเซียนพบการระบาดโอไมครอน XBB.2.3 มากที่สุดในสิงคโปร์ ส่วนอาการคลินิกในเบื้องต้นของโอไมครอน XBB.2.3 ประเมินว่าไม่แตกต่างจากโอไมครอนสายพันธุ์อื่น

หมายเหตุ

อะครักซ์ (Acrux) เป็นชื่อดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวครัซ (Crux) ทางซีกโลกใต้ อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 321.98 ปีแสง

อาร์คทูรัส (Arcturus) เป็นชื่อดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวโบเตสทางซีกโลกเหนืออยู่ห่างจากโลก 37 ปีแสง